นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2562) มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 18,039.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 76.89% เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 2.38% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 16,745.54 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 1,293.49 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้จัดทำความตกลง FTA ทั้งสิ้น 12 ฉบับ (กำลังมีความตกลงอาเซียน-ฮ่องกงอีกหนึ่งฉบับที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 มิถุนายน 2562) โดยมีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 16,745.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 78.07% ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.08% โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน (มูลค่า 6,228.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2. จีน (มูลค่า 4,319.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3. ญี่ปุ่น (มูลค่า 2,051.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4. ออสเตรเลีย (มูลค่า 2,024.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5. อินเดีย (มูลค่า 1,168.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 42.91% รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 11.03% และอินเดีย มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 6.84% สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไทย-ชิลี (96.84%) 2. ไทย-เปรู (95.50%) 3. ไทย-ญี่ปุ่น (94.67%) 4. อาเซียน-จีน (94.55%) และ 5. อาเซียน-เกาหลี (88.54%) และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก, ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ, น้ำตาลจากอ้อย, น้ำมันปิโตรเลียม และโพลิเมอร์ของเอทิลีน
นายอดุลย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีความคืบหน้าในส่วนของการอำนวยความสะดวกสินค้าไทยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีส่งออกไปตลาดบรูไนด้วย e-Form D โดยตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป กรมการค้าต่างประเทศได้เริ่มให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Form D อย่างเต็มรูปแบบกับบรูไนเป็นประเทศที่ 5 เพิ่มเติมจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยระบบ e-Form D จะช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการทำธุรกรรมทางการค้าของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ส่งออกสินค้าไปบรูไน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมการส่งออกของไทยและการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้กรอบอาเซียน สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปบรูไนยังมีการใช้สิทธิฯ เป็นสัดส่วนที่น้อย ซึ่งกรมฯ เชื่อว่าหากสามารถส่งออกไปบรูไนด้วย e-Form D ก็จะอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมาใช้สิทธิฯ ได้เพิ่มมากขึ้น
โดยสินค้าส่งออกไทยในตลาดบรูไนที่มีมูลค่าสูง 5 อันดับแรกในปี 2561 ได้แก่ 1) ข้าว 2) ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 3) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ 4) ยานยนต์ความจุกระบอกสูบ 1,000-1,500 ซีซี และ 5) ยานยนต์ความจุกระบอกสูบ 1,500-3,000 ซีซี ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในรายการสินค้าที่บรูไนลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบอาเซียน และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตให้ได้ถิ่นกำเนิดในไทยเพื่อส่งออกโดยใช้สิทธิฯ กรอบอาเซียนได้
นายอดุลย์ กล่าวว่า ในส่วนของการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) โดยระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 ไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP จำนวน 5 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช นอร์เวย์ และญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นยกเลิกการให้สิทธิ GSP ตั้งแต่เมษายน 2562 เป็นต้นไป) ซึ่งมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 1,293.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการใช้สิทธิ 64.28% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัว 22.92%
โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกา ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ซึ่งระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1,195.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิ 75.74% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 1,584.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 18.40% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง รถจักรยานยนต์ และแว่นตาที่ไม่ใช่กันแดด
ทั้งนี้ ในปี 2562 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ มูลค่าประมาณ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% โดยมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้า เพราะการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 18,039.03 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 22.26% ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ แต่ก็ต้องจับตาว่าอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะยังเติบโตได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เนื่องจากในขณะนี้แนวโน้มการส่งออกของไทยยังคงชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันด้านภาวะการค้าโลกและอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ยังมีความผันผวน และจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ยังยืดเยื้อระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจโลก แต่หากในช่วงกลางปี สหรัฐฯ และจีนสามารถหาข้อยุติได้ในเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้า น่าจะส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกและเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ยังคงมีการปรับปรุงระบบการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่สะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย รวมถึงการจัดกิจกรรมสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ บรรลุได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
โดยล่าสุด กรมฯ จะมีกำหนดจัดสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า และการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form AHK ภายใต้ความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง และ Form E ภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน (ปรับปรุงสาระสำคัญ เช่น ยกเลิกการจำกัดจำนวนรายการสินค้า การระบุราคา FOB เฉพาะสินค้าที่ใช้เกณฑ์ RVC เท่านั้น และการเลือกระบุเลขที่อินวอยซ์ของนายหน้าหรือของผู้ผลิตก็ได้ เป็นต้น) ซึ่งความตกลงทั้งสองฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 และ 1 กรกฎาคม 2562 นี้ตามลำดับ โดยกรอบอาเซียน-ฮ่องกง จะจัดสัมมนาในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2562 และอาเซียน-จีน จะจัดในวันจันทร์ที่ 10 และวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2562 เวลา 12.30-17.00 น. ณ ห้องสัมมนา 5-9 ชั้น 2 อาคารสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ (รัชดา)