นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/62 ขยายตัวชะลอลงจาก 6.0% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 5.6% โดยเป็นการชะลอตัวตามสินเชื่อธุรกิจจากการช ระคืนหนี้ของลูกหนี้บางรายในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่หันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี สินเชื่ออุปโภคบริโภคยังขยายตัวดีในทุกพอร์ต สอดคล้องกับการบริโภคที่ขยายตัวดี และเป็นผลจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดสินเชื่อรายย่อย รวมทั้งมีการเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการ Loan To Value (LTV) มีผลบังคับใช้
สินเชื่อธุรกิจ (65.3% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 3.4% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.1% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 4.4% ซึ่งเป็นการขยายให้สินเชื่อในธุรกิจสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง ขณะที่มีการทยอยชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ในธุรกิจบริการ สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวชะลอลงจาก 4.5% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 1.5% จากการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ที่ใช้วงเงินสินเชื่อสูงบางรายในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่ม อย่างไรก็ดี สินเชื่อยังขยายตัวดีในธุรกิจสาธารณูปโภคหมวดการผลิตไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ส่วนใหญ่จาก SME ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่
สินเชื่ออุปโภคบริโภค (34.7% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 10.1% โดยเป็นการขยายตัวสูงในทุกพอร์ต โดยหลักจาก (1) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงขยายตัวสูงขึ้นจากการเร่งปล่อยสินเชื่อต่อเนื่องมาจากไตรมาสที่แล้ว ก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562 (2) สินเชื่อรถยนต์ ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ และ (3) สินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภท ทั้งที่มีหลักประกัน อาทิ สินเชื่อบ้านแลกเงิน และสินเชื่อรถแลกเงิน และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน
สำหรับในปี 62 คาดว่าสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ จะขยายตัวได้ 5-6%
"ในไตรมาส 1/62 ธนาคารพาณิชย์ ปล่อยสินเชื่อชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 5.6% จากไตรมาสก่อนที่ 6% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 3.4% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง 10.1% คาดว่าในปี 2562 ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อขยายตัว 5-6% คิดเป็น 2 เท่าของประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทั้งปีที่ 3.6%" นายสมชาย กล่าว
ทั้งนี้ ยอมรับว่าในปัจจุบันธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อมีแคมเปญที่ใช้ในการแข่งขันเพื่อแย่งลูกค้ากันอย่างดุเดือด เช่น ให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดมากกว่า 100% จากราคาประเมิน ให้ระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 84 เดือน หรือ 7 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมาก ผ่อนชำระสินเชื่อสบายจ่ายต่อเดือนน้อย และสมัครขอสินเชื่อง่าย รู้ผลไว อนุมัติใน 1 ชั่วโมง เป็นต้น โดยแบ่งเป็นการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ 57% บริษัทลิสซิ่งในเครือธนาคาร 13% และลิสซิ่งอื่นๆ 29% และเป็นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ 58% รถใช้แล้ว 25% รถแลกเงินแบบโอนเล่ม 13% และจำนำทะเบียนรถ 4%
นายสมชาย กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อรถแลกเงิน และสินเชื่อเช่าซื้อ (ลิสซิ่ง) หลังพบว่าในช่วงที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อในประเภทนี้เป็นอย่างมาก โดยสินเชื่อประเภทรถแลกเงินแบบโอนรถ และจำนำทะเบียนรถ ของธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกในไตรมาส 1/2562 สินเชื่อขยายตัวกว่า 30% ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อขยายตัวเพิ่มเป็น 10% ซึ่งการจะออกมาตรการควบคุมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาให้ชัดว่าปัญหาเป็นลักษณะใดบ้าง
สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.94% ทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยยอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 454 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 10 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ การตัดหนี้สูญ และขายหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) เพิ่มขึ้นจาก 2.42% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.56% จากสินเชื่อธุรกิจ SME เป็นสำคัญ
แต่ NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นในทุกหมวด โดยสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นมาที่ 1.71% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.66% สินเชื่อที่อยู่อาศัย 3.35% จาก 3.25% สินเชื่อบัตรเครดิต 2.67% จาก 2.34% และสินเชื่อส่วนบุคคล 2.56% จาก 2.53% รวมทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาเชิงโครงการสร้าง ที่ 4.60% จาก 4.46%
สำหรับ NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีทิศทางปรับขึ้นนั้น มั่นใจว่าหลังจากมาตรการคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2562 จะทำในระยะยาวคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยดีขึ้น แม้ว่าผลจากมาตรการจะทำให้การปล่อยสินเชื่อชะลอลงไปบ้าง ก็เชื่อว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 3-4 ปีนี้ โดย ธปท.ยังไม่ผ่อนปรนมาตรการ ทั้งนี้ การที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอลงก็ไม่ผิดปกติ เพราะมีการเร่งตัวไปมากในช่วงไตรมาส 1/62 ที่ 1.4 แสนล้านบาท เทียบเฉลี่ย 10 ปีที่ปล่อยสินเชื่อประมาณ 9 หมื่นล้านบาทเฉลี่ยต่อไตรมาส
ทั้งนี้ ระบบธาคารพาณิชย์มีเงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 685 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 15.8 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 195%
ในไตรมาส 1 ปี 2562 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 57.1 พันล้านบาท ขยายตัว 13.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อ และรายได้ที่เป็นรายการพิเศษ รวมทั้งค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะหดตัวต่อเนื่อง และค่าใช้จ่ายพนักงานจะสูงขึ้นจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นจาก 1.05% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 1.20% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ทรงตัวที่ 2.82%
ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,567 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 2 พันล้านบาท โดยเป็นผลจากการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1 ratio) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 18.2% และ 15.7% ตามลำดับ