ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 31.91 อ่อนค่าต่อเนื่องจากช่วงเช้า หลังสภาพัฒน์แถลง GDP Q1/62 ต่ำกว่าคาด-แรงซื้อดอลล์จากความกังวลปัญหาสงครามการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 21, 2019 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิตลาดเย็นนี้ที่ระดับ 31.91 บาท/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่ เปิดตลาดอยู่ที่ 31.84 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเคลื่อนไหวระหว่าง 31.81-31.94 บาท/ดอลลาร์

"วันนี้เงินบาทวิ่งค่อนข้างกว้าง เริ่มอ่อนค่าเรื่อยมาตั้งแต่สภาพัฒน์ประกาศตัวเลข GDP ต่ำกว่าคาด ขณะที่มีแรงซื้อดอลลาร์ ในตลาดโลกจากความกังวลปัญหาสงครามการค้า ซึ่งรวมไปถึงกรณี "หัวเว่ย"นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน กล่าวว่า เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 31.85 - 32.00 บาท/ดอลลาร์ คืนนี้จะมีตัวเลขยอดขายบ้านมืองสองเดือนเมษายนของสหรัฐฯ และตัวเลขดุลการค้าของไทยในวันพรุ่งนี้

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ 110.20 เยน/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่อยู่ที่ 110.14 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.1152 ดอลลาร์/ยูโร จากตอนเช้าที่อยู่ที่ 1.1162 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,610.49 จุด เพิ่มขึ้น 2.38 จุด, +0.15% มูลค่าการซื้อขาย 50,396.63 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 842.60 ลบ.(SET+MAI)
  • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก
ของปี 2562 ขยายตัว 2.8% เทียบกับการขยายตัว 3.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ทั้งปี 62 คาด GDP จะโตที่ 3.6% จากประมาณการ
อัตราเติบโตทั้งปีนี้คาดการณ์ในระดับ 3.3-3.8% โดยเป็นการปรับกรอบจากครั้งก่อนที่ 3.5-4.5%
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ไว้ที่ 3.7% เพื่อรอประเมินปัจจัยความไม่
แน่นอนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งหากสถานการณ์ลากยาวออกไป จะส่งผลกระทบให้ GDP ทั้งปี 2562 ขยายตัวโน้มเข้าสู่กรอบ
ล่างของประมาณการที่ 3.2-3.9%
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) แถลงปรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือ 3.0% จากเดิม
มอง 3.5% เหตุตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกชะลอมากกว่าคาด ทำให้แรงส่งต่อไปยังในช่วงที่เหลือมีข้อจำกัด แม้ความเชื่อมั่นและ
บรรยากาศการลงทุนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นหลังจากฟอร์มรัฐบาลใหม่ ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกสงครามการค้าถึงทางตัน จึงยากที่
จะเห็นเครื่องยนต์ส่งออกกลับมาในปีนี้
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากภาค
ต่างประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์
ความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชน
  • นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประเมินผลกระทบกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่
ประชาชนให้ความสนใจ ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับไทยมากนัก
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/62 ขยายตัวชะลอลงจาก
6.0% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 5.6% โดยเป็นการชะลอตัวตามสินเชื่อธุรกิจจากการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้บางรายในภาคอุตสาหกรรมและ
บริการที่หันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี สินเชื่ออุปโภคบริโภคยังขยายตัวดีในทุกพอร์ต สอดคล้องกับการบริโภคที่
ขยายตัวดี และเป็นผลจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดสินเชื่อรายย่อย รวมทั้งมีการเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการ Loan To
Value (LTV) มีผลบังคับใช้ สำหรับปี 62 คาดว่าสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ จะขยายตัวได้ 5-6%
  • รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกของญี่ปุ่นยังคงสดใส และสะท้อน
ให้เห็นว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า หนี้สินในระดับสูงของภาคเอกชนเป็นประเด็นที่ควรจับตาในเวลานี้ อย่าง
ไรก็ตาม นายพาวเวลกล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่าหนี้สินดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของสหรัฐ
  • ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายรายใหญ่ของจีน เปิดเผยในวันนี้ว่า มาตรการ
คุมเข้มของสหรัฐจะไม่ส่งผลกระทบต่อสินค้าระดับไฮเอนด์ของหัวเว่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าในระบบโครงข่าย 5G

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ