ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.3% ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่ 3.6% เนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อภาคการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งมากกว่าที่คาดในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา และยังรวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดด้านสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่กลับมาปะทุอีกครั้ง ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยโดยตรง โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าส่งออกของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าจีนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดแผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ สงครามการค้ายังส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากความตึงเครียดด้านการค้าและการลงทุนของโลกที่เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มเป็นปัจจัยทางอ้อมที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าของไทยได้อีกทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ อีไอซีจึงประเมินว่าการส่งออกไทยปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ที่ 2.7% ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.6% เหลือขยายตัวเพียง 3.3% ในปีนี้
การส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มชะลอมากกว่าคาด จะส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวชะลอลงบางส่วน โดยการส่งออกสินค้าที่มีทิศทางชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามการค้า ทำให้คาดว่าการลงทุนของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวเช่นกัน อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนในภาพรวมจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดในไตรมาส 1 การลงทุนภาครัฐด้านการก่อสร้างยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.1% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.1%
นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังอาจทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงได้บางส่วน ซึ่งอาจส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนกับประเด็นเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่และความสามารถในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
การบริโภคภาคเอกชนปี 2562 มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มชะลอลงหลังจากหมดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก โดยภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนทั้งปีมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ตามรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาสแรก การบริโภคเอกชนขยายตัวได้ดีที่ 4.6% ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ภาครัฐยังได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของเงินโอนผ่านบัตรสวัสดิการมูลค่าประมาณ 1.32 หมื่นล้านบาท และในส่วนของมาตรการค่าลดหย่อนทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ จึงทำให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 2 จะยังขยายตัวดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อหมดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวและหากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ก็จะทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 การบริโภคภาคเอกชนจะมีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2562 ยังคงเป็นความเสี่ยงด้านสงครามการค้า และความไม่แน่นอนด้านการเมืองของไทย โดยในปัจจุบัน จีนและสหรัฐฯ ได้เปิดฉากสงครามการค้ารอบใหม่และมีการโต้ตอบกันไปมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาวะสงครามการค้ายังคงมีความยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง จึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด
ส่วนความเสี่ยงภายในประเทศมีที่มาจากเสถียรภาพด้านการเมืองหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีโอกาสสูงที่เสียงระหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะมีจำนวนใกล้เคียงกัน ประกอบกับการที่เป็นรัฐบาลผสม จึงน่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล รวมถึงประสิทธิภาพในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่อาจส่งผลต่อเนื่องถึงการชะลอการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนได้ในระยะต่อไป