(เพิ่มเติม) ครม.อนุมัติงบ 13,200 ลบ. ผ่านมาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วงกลางปี 62 คาดดัน GDP ปีนี้โต 3.9%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 30, 2019 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นมาตรการพยุงเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คาดใช้งบประมาณ 13,200 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ 1.การเพิ่มเบี้ยให้ผู้พิการ ได้รับเบี้ยเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 200 บาท/คน/เดือน ผ่านช่องทาง e-Money ภายในวันที่ 15 ของเดือน ซึ่งเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ดูแลสุขภาพ และด้านการเดินทาง โดยคาดว่าจะมีผู้พิการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับประโยชน์ 1.16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1,160 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ พ.ค.-ก.ย.62

2. การช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่จำเป็นในช่วงที่ราคาได้เกษตรหดตัว และสินค้าเกษตรมีราคาผันผวน โดยจะได้รับเงินคนละ 1,000 บาท (รับครั้งเดียว) ผ่านช่องทาง e-Money ภายในวันที่ 15 พ.ค.62 คาดว่าจะมีเกษตรกรที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับประโยชน์ 4.1 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4,100 ล้านบาท ระยะเวลามาตรการ พ.ค.62

3. การช่วยเหลือผู้ปกครองเรื่องค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษา โดยจะให้เงินช่วยเหลือแก่บิดา หรือมารดาที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาท/บุตร 1 คน ผ่านช่องทาง e-Money ภายในวันที่ 15 พ.ค.62 (รับครั้งเดียว) คาดว่าจะมีจำนวนบุตรของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับประโยชน์ 2.7 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1,350 ล้านบาท

4. การช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้ง 14.6 ล้านคน เพื่อบรรเทาปัญหาปากท้องและรักษากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานราก โดยจะเพิ่มเพดานในช่องทางการซื้อสินค้าร้านธงฟ้าให้เป็นคนละ 500 บาท/เดือนเท่ากันหมด (จากเดิมที่ได้คนละ 200 หรือ 300 บาท/เดือนแล้วแต่กรณี) ระยะเวลามาตรการ 2 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-มิ.ย.62 ใช้งบประมาณ 6,600 ล้านบาท

สำหรับมาตรการพยุงเศรษฐกิจในกลุ่มที่สอง จะเป็นมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ และระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) ประกอบด้วย 1. มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษา และกีฬา โดยจะลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย.62

2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน เป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อหนังสือ รวมทั้งค่าบริการ e-Book ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.62

3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย (OTOP) โดยจะลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อสินค้า OTOP ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่ 30 เม.ย.- 30 มิ.ย.62)

4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยจะลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าบริการนำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม โฮมสเตย์ในเมืองหลัก ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และในเมืองรอง ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท ตั้งแต่ 30 เม.ย. - 30 มิ.ย.62

5. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยจะลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ตั้งแต่ 30 เม.ย.- 31 ธ.ค.62 ทั้งนี้จะต้องเป็นบ้านหลังแรก และเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียน

6. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน e-Tax โดยจะให้นิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายลงทุนใน e-Tax ได้ 2 เท่าสำหรับการใช้ Point of Sale, e-Tax Invoice & e-Receipt และ e-Withholding Tax ตั้งแต่ 30 เม.ย. - 31 ธ.ค.62

ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่ามาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปีดังกล่าว คาดว่าจะกระตุ้น GDP ในปี 2562 ให้เพิ่มขึ้น 0.1% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% จากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.8%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า มาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วงกลางปี 2562 รวม 4 มาตรการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะใช้งบประมาณที่ 13,200 ล้านบาท และ 6 มาตรการภาษี ประมาณการสูญเสียรายได้ที่ 7,000 กว่าล้านบาท รวมแล้วคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท

สำหรับมาตรการแจกเงิน 1,500 บาท เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนนำไปใช้จ่ายท่องเที่ยวในเมืองรอง ที่ผ่านมามีการศึกษาเรื่องนี้ แต่เมื่อพิจารณาแล้วเป็นมาตรการที่เป็นยาแรง พิจารณาแล้วยังไม่คุ้มค่าที่จะนำมาใช้ในตอนนี้ จึงเว้นไว้ก่อน เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่านำมาใช้แล้วเกิดความคุ้มค่าก็พร้อมพิจารณาทบทวน โดยต้องพิจารณาในแง่ของเงินที่นำมาใช้ ความเร่งด่วนและความจำเป็นที่จะใช้มาตรการ และผลที่ได้มีความคุ้มค่าหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ