นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า การปล่อยสินเชื่อของ ธอส.ในปีนี้มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.03 แสนล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คุมเข้มสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ซึ่งทำให้ลูกค้าที่เป็นผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่ไม่มีเงินเก็บไม่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้
ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เรียก ธอส.และธนาคารออมสินไปหารือถึงกรณีนี้แล้ว ซึ่ง ธอส.ได้มีข้อเสนอให้นำไปหารือกับ ธปท.เพื่อแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะมาตรการของ ธปท.ทำให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทำตามเป้าหมายได้ยาก แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีบริการอื่นเข้ามาชดเชย
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 มี.ค.62 ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 44,041 ล้านบาท 35,971 บัญชี โดยเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท จำนวน 21,319 ราย หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 1,128,493 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.88% สินทรัพย์รวม 1,167,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.95% เงินฝากรวม 945,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.58% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 49,295 ล้านบาท คิดเป็น 4.37% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.03% อัตราส่วนการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Provision to NPL) อยู่ที่ 166.81% เพิ่มขึ้น 9.60% มีรายได้ดอกเบี้ย 12,971 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย 5,432 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 2,866 ล้านบาท
และล่าสุด ณ วันที่ 30 เม.ย.62 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แล้ว 53,348 ล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อถึง ณ สิ้นไตรมาส 2/62 ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่จะเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับเป้าหมาย 6 เดือนที่ตั้งไว้ 100,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 62 ที่ 203,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองของที่อยู่อาศัยราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 1 ล้านบาท
รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมของรัฐบาลที่คาดว่าจะทยอยประกาศในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 62 ซึ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลังของทุกปีจะเร่งตัวขึ้นจากครึ่งปีแรกตามภาวะการแข่งขันของตลาดที่อยู่อาศัย เพราะผู้ประกอบการจะจัดทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายและปิดยอดให้ได้ตามเป้าหมายในช่วงดังกล่าว
ธอส.ยังประสบความสำเร็จในการนำระบบปฏิบัติงานหลัก GHB System ขึ้นใช้งาน (On Production) ทดแทนระบบเดิมที่ใช้งานมานานกว่า 10 ปี ได้สำเร็จตามกำหนดเมื่อวันที่ 11 มี.ค.62 และสามารถให้บริการลูกค้าได้ต่อเนื่อง ซึ่ง GHB System ถือเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของธนาคารที่จะสามารถรองรับการดำเนินธุรกิจไปได้อีกอย่างน้อย 10 ปี พร้อมรับกับการแข่งขันในธุรกิจสถาบันการเงินการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และความต้องการของลูกค้าที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการ โดยเฉพาะการยกระดับบริการดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี
ภายในเดือนมิ.ย.62 ธอส.มีกำหนดเริ่มให้บริการ Phase 2 ของ Mobile Application : GHB ALL ที่จะมีฟังก์ชั่นการให้บริการเพิ่มเติมประกอบด้วย การยื่นกู้สำหรับลูกค้าที่มีสวัสดิการกับธนาคาร บริการแจ้งเตือนให้ชำระหนี้ เชื่อมต่อกับระบบค้นหาและโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ซื้อทรัพย์ และการเชื่อมต่อกับระบบสะสมแต้ม Online ของลูกค้าเพื่อลุ้นรับของรางวัลต่าง ๆ ในโครงการ GHB Reward ซึ่งภายหลังจากที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 1 พ.ย.61 ล่าสุดมีลูกค้าดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งานแล้วกว่า 100,000 ราย
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ธอส.มีแผนจะต่อยอดบริการ GHB ALL ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเปิดให้ลูกค้าที่ไม่ได้ทำงานประจำ ยกตัวอย่าง ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง หรือพ่อค้าแม่ค้า สามารถรับชำระเงินผ่าน QR Code เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์สินเชื่อ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน
สำหรับแนวทางในการดำเนินงานสำคัญในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธอส.ยังจะจัดทำสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ Reverse Mortgage ภายใต้กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตนเองและปลอดภาระหนี้ สามารถนำมาจำนองกับธนาคารเพื่อรับเงินเป็นรายเดือนสำหรับการดำรงชีพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กำหนดพื้นที่นำร่องที่อยู่อาศัย(หลักประกัน) ต้องตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ธอส.กำหนดให้กู้สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 80 ปี และต้องไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ กู้ร่วมได้เฉพาะกับคู่สมรสตามกฎหมายหรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันที่มีกรรมสิทธิ์ในหลักประกันเดียวกัน วงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 50% ของราคาประเมินและสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยไม่พิจารณารายได้ของผู้กู้ อัตราดอกเบี้ย 6.25% ต่อปีตลอดอายุสัญญากู้ ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม 4 ฟรี 1.ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ (0.1% ของวงเงินกู้) 2.ค่าประเมินราคาหลักประกัน 3.ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (1,000 บาทต่อราย) และ 4.ค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง (1% ของวงเงินจำนอง)
ระยะเวลาขอรับเงินได้นานสูงสุด 25 ปี หรือจนถึงผู้กู้อายุ 85 ปี ธนาคารจะจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นรายเดือน อาทิ วงเงินกู้ 2 ล้านบาท หากผู้กู้อายุ 65 ปี ระยะเวลาการกู้ 20 ปี จะได้รับเงินจากธนาคารเดือนละ 8,300 บาท หากครบระยะเวลาการกู้ตามสัญญาแล้วสามารถขอชำระหนี้ปิดบัญชี โดยธนาคารจะคำนวณจำนวนเงินเท่ากับวงเงินกู้ที่ธนาคารจ่ายให้แก่ผู้กู้ทั้งหมดรวมกับดอกเบี้ยค้างรับ หรือ หากไม่สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีผู้กู้ยังมีสิทธิอยู่อาศัยต่อในหลักประกันเดิมได้ตลอดชีวิต หรือสามารถแจ้งความประสงค์ขอกู้เพิ่มได้ โดยขอรับวงเงินที่กู้เพิ่มได้นานสูงสุด 14 ปี
และกรณีผู้กู้เสียชีวิตให้ถือว่าสัญญาสิ้นสุดลงธนาคารจะให้สิทธิแก่ผู้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีเพื่อไถ่ถอนจำนองเพื่อรับกรรมสิทธิในที่อยู่อาศัยดังกล่าว แต่หากผู้รับผลประโยชน์ไม่ประสงค์ชำระหนี้ปิดบัญชี ธนาคารจะนำหลักประกันขายทอดตลาดต่อไป โดยผู้รับผลประโยชน์ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนต่างหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนต่างๆ แม้ราคาขายทอดตลาดจะต่ำกว่ายอดชำระหนี้ ส่วนกรณีราคาขายทอดตลาดสูงกว่ายอดชำระหนี้ธนาคารจะคืนเงินส่วนต่างให้ผู้รับผลประโยชน์หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนต่าง ๆ แล้ว
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งธนาคารเปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.62 ล่าสุด ณ วันที่ 15 พ.ค.62 พบว่ามีลูกค้าประชาชนทยอยเดินทางเข้ามาติดต่อยื่นคำขอกู้รวมแล้วกว่า 7,300 ราย วงเงินกู้ 5,200 ล้านบาท และมีผู้ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 6,300 ราย วงเงินกู้ 4,300 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารยังคงเร่งติดตามให้ผู้ที่มาจองสิทธิสินเชื่อเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.61 ทั้ง 127,000 รายเข้ามาติดต่อขอรับคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่หรือยื่นกู้กับธนาคารให้ครบทุกรายภายในเดือน ก.ค.62 เพื่อไม่ให้เสียสิทธิการเข้าถึงสินเชื่อของโครงการบ้านล้านหลังที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยเพียง 3% ต่อปี คงที่นานสูงสุด 5 ปี สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท และฟรีค่าธรรมเนียมถึง 4 ประเภท
ธอส.เตรียมจะเปิดจองสิทธิสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ภายในเดือน ก.ย.62 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมและแนะนำผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีแผนก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท มาเข้าร่วมโครงการให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 หน่วยต่อปี และเตรียมจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมกลุ่มผู้ที่เลี้ยงดูบุพการี ผู้มีรายได้น้อย และคนวัยทำงานหรือกำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัวได้มีบ้านเป็นของตนเอง และอาจขยายระยะการผ่อนชำระให้นานสูงสุดถึง 50 ปี เพื่อลดภาระในการผ่อนรายเดือนให้กับผู้กู้ต่อไป
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนจัดทำโครงการ Virtual NPL เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่ประสบปัญหาด้านรายได้จนทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ตามปกติและกลายเป็น NPL ของธนาคาร โดย ธอส.จะเปรียบเสมือนศูนย์กลางในการรวบรวมที่อยู่อาศัยที่เป็น NPL ของธนาคารเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาดูข้อมูลและเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่ธนาคารกำหนดโดยได้รับความยินยอมจากผู้กู้เดิม และเมื่อสามารถจำหน่าย NPL ได้แล้ว เงินที่ได้จะถูกนำไปหักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดให้แก่ผู้กู้เดิมเพื่อปลดภาระหนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการจากปัจจุบันที่มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ NPL 13 มาตรการ เขื่อว่าจะช่วยลด NPL ของธนาคารลงให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ไม่เกิน 4% ของสินเชื่อคงค้างในสิ้นปี 62
และภายในเดือนกันยายน 2562 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยังมีกำหนดเปิดตัวโครงการ "ระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสอง" โดยใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 31.1 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสองที่แสดงอุปสงค์และอุปทานของตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสอง สร้างตลาดเสมือนจริง (Digital Virtual Market) เพื่อสร้างช่องทางกลางในการซื้อขายและสร้างให้มีสภาพคล่อง ที่จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของตลาดบ้านใหม่ด้วยการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง และนำข้อมูลที่ได้จากระบบฐานข้อมูลมาประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสอง เพื่อการกำหนดและทบทวนนโยบายในการพัฒนาตลาดที่อยู่อาศัยและเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ต่อไป
ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำบันทึกความร่วมมือในการจัดทำโครงการ และจัดส่งข้อมูลทรัพย์รอการขายเข้ายังฐานข้อมูล เพื่อให้เป็นศูนย์รวมทรัพย์ NPA ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ทั้งของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทั้ง 7 แห่ง รวมถึงธนาคารกรุงไทย บมจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) และกรมบังคับคดี ควบคู่ไปกับการพัฒนา Software ของระบบ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเลือกซื้อทรัพย์ NPA ผ่านทางเว็บไซต์รวมถึง Application บนโทรศัพท์มือถือ