ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank แถลงดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาสที่ 1/2562 จากการสำรวจ 1,249 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยสำรวจ 3 ดัชนี ได้แก่ 1.ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs (SMEs Situation Index) 2.ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ (SMEs Competency Index) และ 3.ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ SMEs (SMEs Sustainability Index) นำมาประมวลให้เห็นถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs (SMEs Competitiveness Index)
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 43.7 ปรับตัวลด 0.3 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (4/2561) และคาดไตรมาส 2/2562 จะอยู่ที่ 43.5
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบดัชนีสถานการณ์ธุรกิจในกลุ่มที่เป็นลูกค้า กับกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. จะพบว่ากลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจปรับจากระดับ 37.7 มาอยู่ที่ระดับ 37.4 ส่วนกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ จากระดับ 49.2 มาอยู่ที่ระดับ 49.0
ด้านดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาสที่ 1/2562 อยู่ที่ระดับ 49.9 ปรับตัวลดลง 0.5 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดไตรมาส 2/2562 จะอยู่ที่ 49.6 โดยกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีอยู่ที่ 57.8 สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีอยู่ที่ 42.2
ด้านดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 1/2562 อยู่ที่ระดับ 52.5 ปรับตัวลดลง 0.3 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดไตรมาส 2/2562 จะอยู่ที่ 52.3 โดยเมื่อแยกเปรียบเทียบกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. กับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. พบว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีจากระดับ 45.6 มาอยู่ที่ระดับ 45.3 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว.จากระดับ 60.0 มาอยู่ที่ระดับ 59.6
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จาก 3 ดัชนีข้างต้น นำมาสู่ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไตรมาสที่ 1/2562 พบว่า อยู่ที่ระดับ 48.7 ปรับตัวลดลง 0.3 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดว่าในไตรมาสที่ 2/2562 จะอยู่ที่ระดับ 48.5 ทั้งนี้ เมื่อเทียบระหว่างกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. กับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. พบว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ลดลง 0.5 จุด จาก 42.1 มาอยู่ที่ 41.6 ด้านลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ลดลง 0.4 จุด จาก 55.9 มาอยู่ที่ 55.5
ส่วนความต้องการความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือพัฒนากิจการจากภาครัฐนั้น กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษี ปรับปรุงโครงสร้างภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้า และภาษีที่ซ้ำซ้อน ด้านการตลาด เช่น ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงออนไลน์ ด้านสินเชื่อ เช่น ลดข้อจำกัดในการอนุมัติสินเชื่อ และการเข้าถึงให้ง่ายขึ้น ทั้งลดขั้นตอน ลดเอกสาร ลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น และด้านพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน เป็นต้น
ด้านนายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวเสริมว่า แม้ผลสำรวจดัชนีต่างๆ ทั้งดัชนีสถานการณ์ธุรกิจฯ ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจฯ และดัชนีความสามารถในการแข่งขันฯ ประจำไตรมาสที่ 1/2562 จะปรับลดลง แต่สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้า ธพว.ยังมีค่าเฉลี่ยดัชนีสูงกว่าเกณฑ์และสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. บ่งบอกได้ดีว่า แนวทางสนับสนุนของ SME D Bank ที่มุ่งให้ความรู้คู่เงินทุน ควบคู่สนับสนุนสร้างคุณภาพชีวิต หรือที่เรียกว่า "3 เติม" เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SMEs เกิดความเข้มแข็งได้จริง
ดังนั้น SME D Bank จะเดินหน้ามอบ "3 เติม" ให้แก่ SMEs ไทยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.เติมทักษะ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น อบรมสัมมนา จับคู่ธุรกิจ พี่เลี้ยงมืออาชีพ เป็นต้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย 2.เติมทุน ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งธนาคารได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน เพื่อธุรกิจเกษตร แปรรูปอาหาร ท่องเที่ยวชุมชน ค้าปลีก-ค้าส่ง และอาชีพอิสระ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ นิติบุคคล ปีที่ 1-3 เพียง 0.25% ต่อเดือน ส่วนบุคคลธรรมดา ปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน และ 3.เติมคุณภาพชีวิต ช่วยให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงในอาชีพ และลดภาระให้ครอบครัว
"จากการมอบ 3 เติมของ SME D Bank ช่วยยกระดับเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ SMEs แม้ว่าจะมีปัจจัยภายนอกมากระทบ ก็ยังมีภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ธุรกิจเข้มแข็ง และเติบโตยั่งยืนได้อย่างแท้จริง" นายพงชาญ กล่าว