นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2562 ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ จำนวน 14 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเยอรมนี ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 1,214 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 410 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 7 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเยอรมนี มีเงินลงทุนจำนวน 505 ล้านบาท อาทิ บริการให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการใช้งานและการเก็บรักษาเคมีภัณฑ์และพลาสติก, บริการด้านการตลาดและส่งเสริมการขายซอฟต์แวร์ทางอุตสาหกรรม, บริการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานบางส่วน พร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก, บริการให้กู้ยืมเงิน
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอเมริกา มีเงินลงทุนจำนวน 428 ล้านบาท ได้แก่ บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท เครื่องตัดสิ่งพิมพ์ และเครื่องพิมพ์ 3 มิติ, บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบอุปกรณ์เตือนอัคคีภัย, บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, บริการบริหารจัดการและควบคุมการขนส่งน้ำมันทางท่อ
3. ธุรกิจค้าส่ง จำนวน 1 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศเยอรมนี และมีเงินลงทุนจำนวน 22 ล้านบาท คือ การค้าส่งเครื่องกำจัดสารควบแน่น เครื่องกรอง และเครื่องวัดที่ใช้งานในระบบอากาศอัด 4. ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาเอกชน จำนวน 1 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศจีน มีเงินลงทุนจำนวน 259 ล้านบาท คือ บริการออกแบบวิศวกรรม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ก่อสร้างและติดตั้งทดสอบและบำรุงรักษาถังเก็บน้ำมันดิบ
นายวุฒิไกร กล่าวว่า การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมระบบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม องค์ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะเด่นเฉพาะของผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ทางอุตสาหกรรม องค์ความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบอุปกรณ์เตือนอัคคีภัย องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของอุปกรณ์อินเตอร์เฟสและระบบเลเซอร์กำลังสูง เป็นต้น
ทั้งนี้ จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในเดือนพฤษภาคม 2562 ลดลงจากเดือนก่อน 4 ราย คิดเป็น 22% ในขณะที่เงินลงทุนลดลง 1,548 ล้านบาท คิดเป็น 56 เนื่องจากในเดือนเมษายน 2562 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบ เครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ บริการด้านวิศวกรรม จัดหา และก่อสร้างโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ บริการออกแบบ ติดตั้ง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาระบบประตูอัตโนมัติภายในชานชาลาของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง บริการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตตัวกำเนิดก๊าซ เป็นต้น
สำหรับในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2562 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 83 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,913 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 31 ราย คิดเป็น 27% ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 5,412 ล้านบาท คิดเป็น 98% เนื่องจากในปี 62 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการรับค้ำประกันหนี้ บริการงานวิศวกรรม การจัดหา ติดตั้ง และทดสอบการใช้งานของระบบเครื่องบดดินหรือหินกึ่งเคลื่อนที่โครงการแม่เมาะ บริการออกแบบ จัดซื้อจัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ รวมทั้งการแก้ไขความชำรุดบกพร่องและบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบ เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ เป็นต้น