นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้นำคณะผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทย จำนวน 12 ราย เดินทางไปเจรจาการค้าภายในงานแสดงสินค้า Cannes Film Festival 2019 ระหว่างวันที่ 14 – 23 พฤษภาคม 2562
ในการร่วมงานครั้งนี้ผู้ประกอบการทั้ง 12 ราย ได้นำผลงานที่โดดเด่นมาเข้าร่วมงาน ทั้งภาพยนตร์ไทยแนวแอคชั่นและสยองขวัญ ซึ่งยังคงได้รับความสนใจ อย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Nemesis ของบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด ภาพยนตร์เรื่อง พี่นาค ของ บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด และภาพยนตร์เรื่อง Sisters ของบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นอกจากนี้ บริษัทไทยที่ให้บริการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยก็ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจจากนานาประเทศในการร่วมลงทุนและถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ด้วยความพร้อมของทีมงานและศักยภาพ ที่สามารถรองรับมาตรฐานการทำงานในระดับสากล ส่งผลให้เกิดการเจรจาการค้า 371 คู่ โดยมี 5 ประเทศสูงสุด ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และประเทศเกาหลีใต้ มีมูลค่าคาดการณ์ต่อเนื่องภายใน 1 - 5 ปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 9,400 ล้านบาท เป็นการตอกย้ำถึงคุณภาพและศักยภาพด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในต่างประเทศ และเชื่อมั่นว่ามีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ บริษัท เดอะ สตูดิโอ พาร์ค โปรดักชั่น เซอร์วิส จำกัด (บริษัทในเครือ บริษัท เดอะ สตูดิโอ พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด) ได้เซ็นสัญญาการเป็น Partner กับบริษัท Salty Pictures โดยมีการตกลงที่จะถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย จำนวน 5 เรื่อง ภายในเวลา 1 ปี ทางด้านบริษัท เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด ได้เจรจากับบริษัทผู้ลงทุนจากประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทย และบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ได้เซ็นสัญญาและปิดการขายภาพยนตร์เรื่อง Bad Genius (สิทธิ์ TV & Internet Rights) กับบริษัท Azure Entertainment Private Limited จากประเทศอินเดีย อีกทั้งยังได้ขายสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง Diary of Tootsie The Movie (ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เดอะมูฟวี่) ได้ทันทีให้แก่ บริษัท Movie Cloud จากประเทศไต้หวัน และบริษัท Edko Films จากฮ่องกง รวมถึงได้ปิดการขายภาพยนตร์เรื่อง Friend Zone ได้ทันทีกับ บริษัท Lumixmedia จากประเทศเกาหลีใต้
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า ตลาดภาพยนตร์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากการดูภาพยนตร์ผ่าน DVD หรือ BluRay ถูกแทนที่ด้วย OTT และ VOD กลายเป็นยุคแห่งดิจิทัล ผู้ชมภาพยนตร์ต้องการความหลากหลาย แปลกใหม่ และโดดเด่น ทำให้ผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยต้องพัฒนาวิธีการผลิตและการขายอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาด