น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ขณะนี้การค้าไม่แน่นอนและมีความท้าทายสูง จากกรณีที่ทางสหรัฐฯ เดินหน้ากดดันจีนเต็มรูปแบบทั้งประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนกลุ่ม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จำนวน 5,745 รายการ) เป็น 25% (มีผลบังคับใช้วันที่ 10 พ.ค. 62) และขู่ขึ้นภาษีเพิ่มเติมอีกประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้เปิดเผยร่างรายการสินค้าประมาณ 3,800 รายการ และจะจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนมิ.ย. 62 ในขณะที่ ทางการจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จำนวน 5,140 รายการ มีผลบังคับใช้ 1 มิ.ย. 62) ตอบโต้กลุ่มภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สำหรับมาตรการสินค้าของสหรัฐฯ กลุ่มสินค้า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการตอบโต้ของจีน ในกลุ่มสินค้า 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น เป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 61 แต่สหรัฐฯ ปรับอัตราภาษีจากร้อยละ 10 เป็น 25% และจีนปรับอัตราภาษีเป็น 5 – 25% และตัดสินค้าจำนวน 67 รายการ (ส่วนใหญ่คืออุปกรณ์รถยนต์ เช่น เบรค ล้อรถ คลัช เพลา/แกนรถ ถุงลมนิรภัย) ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน พบว่า สินค้ากลุ่มนี้มีนัยยะสำคัญและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่ามาตรการระหว่างกันล่าสุดในสินค้ากลุ่มนี้ จะไม่ส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นมากนักเนื่องจากเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว และผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับตัว โดยเราเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ตัวเลขการส่งออกเดือน เม.ย. 62 มีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่ลดลง โดยคาดว่าผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับกลยุทธ์ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และมาผลิตในประเทศที่สาม (นอกประเทศจีน) มากขึ้น เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเมื่อพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่ขึ้นภาษี 2 แสนล้าน ของสหรัฐฯ และ 6 หมื่นล้าน ในฝั่งจีน พบว่าไทยยังมีโอกาสส่งออกสินค้าเพื่อชดเชยผลกระทบจากการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน โดยสินค้ากลุ่มที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก ได้แก่ ผักและผลไม้สดและแปรรูป เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็ง อาหารปรุงแต่ง เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องสำอาง และ ผลิตภัณฑ์ยาง
ส่วนสินค้าล็อตใหม่ที่สหรัฐฯ เตรียมขึ้นภาษีจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น เป็นสินค้าส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน โดยส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าอุปโภค และบริโภค อาทิ อาหาร อุปกรณ์/เครื่องใช้ภายในบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับ ซึ่งหากสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีจริง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค และประเมินว่าในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานจีนจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับมาตรการที่ผ่านมา และไทยมีโอกาสที่จะส่งออกเพิ่มในตลาดสหรัฐฯ กว่า 725 รายการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 200 – 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าที่ไทยมีด้วยส่วนแบ่งตลาดและความสามารถทางการแข่งขันในรายสินค้า (RCA) สูง ประกอบกับภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค อาทิ อาหารและเครื่องปรุงอาหาร (เครื่องเทศ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว พีนัท ถั่ว Pignolia น้ำตาลอ้อย) น้ำผลไม้ ขิง ชาเขียว เสื้อผ้าและผ้าผืน รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ (ไข่มุกและนาฬิกา) และของใช้ในบ้าน (เครื่องเซรามิค เครื่องแก้ว)
ปัจจัยสำคัญของการการกระตุ้นส่งออก คือ การช่วงชิงโอกาส (Speed) และกลยุทธ์ (Strategy) ให้ตอบโจทย์อย่างตรงจุด เพื่อเร่งผลักดันการขายตามความต้องการของตลาด โดยในวันที่ 29 พ.ค. นี้ จะมีการประชุมกับตัวแทนอุตสาหกรรมกว่า 20 สมาคม/กลุ่ม เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ และการปรับกลยุทธ์ผลักดันการส่งออกสินค้าศักยภาพข้างต้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนี้จะนำผลหารือจากการประชุมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในวันที่ 11 มิ.ย. 2562 เพื่อกำหนดแนวทางการรับมือในเรื่องสงครามการค้า และกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การค้าระยะยาวที่จะต้องพิจารณาระบบการค้าและการลงทุน (Trade & Investment Ecosystem) ทั้งระบบให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของการค้าโดยเน้นผลักดันและกระตุ้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ติดตามสถานการณ์การนำเข้าอย่างใกล้ชิดในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ฯ อะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เครื่องจักรไฟฟ้าฯ ทองแดง และเคมีภัณฑ์ เพื่อป้องกันการสินค้าไหลเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากจากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและผู้บริโภค ซึ่งยังไม่พบการนำเข้าที่ผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา