ไฟแนนเชียล ซูเปอร์ไวซอรี เซอร์วิส ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการเงินของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ธนาคารต่างๆของเกาหลีใต้ขาดทุนจากการลงทุนในธุรกิจการปล่อยกู้เพื่อการจำนองแก่ลูกค้าที่มีความน่าเชื่อต่ำหรือซับไพรม์ของสหรัฐ เป็นมูลค่า 563 ล้านดอลลาร์ โดยธนาคารของเกาหลีใต้ 7 แห่งได้ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศประเภท CDO ของสหรัฐที่มีต้นกำเนิดมาจากการปล่อยกู้เพื่อการจำนองแก่ลูกค้าที่ขาดความน่าเชื่อถือจำนวน 682.5 ล้านดอลลาร์
ในช่วงสิ้นเดือนธ.ค.2550 ธนาคารเหล่านี้ขาดทุนไป 563 ล้านดอลลาร์ หรือ 83% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด
วูรี แบงค์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ขาดทุนสูงสุดถึง 445 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ เนชั่นแนล อะกริคัลเจอรัล โคเปอเรทีฟ เฟเดอเรชั่น มูลค่า 107 ล้านดอลลาร์
ส่วนชินฮานแบงค์ขาดทุนประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์จากการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับซับไพรม์ในปีที่แล้ว โคเรีย เอ็กซ์เชนจ์ แบงค์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของโลน สตาร์ ขาดทุน 1.17 ล้านดอลลาร์
สำนักข่าวธอมสันไฟแนนเชียลรายงานว่า กำไรของธนาคารเกาหลีใต้ 18 แห่ง เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะระดับ 15 ล้านล้านวอนในปี 2550 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับปีที่แล้วที่ 13.6 ล้านล้านวอน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--