ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย เม.ย.62 อยู่ที่ 47.8 ลดลงทุกภาค ส่วนใหญ่กังวลการจัดตั้งรัฐบาล-เศรษฐกิจปากท้อง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 28, 2019 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) เดือนเม.ย.62 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเป็นจากประธานหอการค้า และกรรมการหอการค้าของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ รวม 375 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 29 เม.ย. - 6 พ.ค.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนเม.ย.62 อยู่ที่ระดับ 47.8. ปรับลดลงจากเดือนมี.ค.62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 48.4

โดยปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือโต 3% จากครั้งก่อนที่คาดว่าจะโต 4%, ความกังวลของประชาชนต่อการจัดตั้งรัฐบาล และความไม่ชัดเจนของทิศทางการเมืองในประเทศ, การส่งออกของไทยเดือนมี.ค.62 ลดลง 4.88% ที่มูลค่า 21,440 ล้านดอลลาร์, จำนวนนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่ได้มีจำนวนมากอย่างที่คาดการณ์ไว้ และความกังวลต่อปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจีน กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากยกเลิกค่าธรรมเนียม VISA on Arrival, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย จากระดับ 31.729 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมี.ค.62 เป็น 31.860 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนเม.ย.62 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา, ราคาสินค้าเกษตรบางรายการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเทศกาลสงกรานต์ที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการบริโภค

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้ 1. กำหนดทิศทางนโยบาย และแนวทางปฏิบัติของประเทศให้มีเสถียรภาพ 2.ขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจ และควรมีมาตรการใหม่ๆ ที่จะมาช่วยเศรษฐกิจ โดยเป็นการกระตุ้นอย่างยั่งยืนและเห็นผลได้ชัดเจน 3.ผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ต้องการให้เกิดการพัฒนาระบบคมนาคม เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ 4.สร้างความเชื่อมั่นที่ดีของภาครัฐต่อประชาชน และนักลงทุนต่างประเทศ 5.แก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน และขจัดปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการทำบัญชีครัวเรือน

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เมื่อแยกเป็นรายภาค พบว่ามีรายละเอียด ดังนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 49.5 ลดลงจากระดับ 50.1 ในเดือนมี.ค.62 โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล, จำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้, ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น และการชะลอการก่อสร้างโครงการใหม่ ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและซื้อสินค้าช่วงเทศกาลสงกรานต์, การเร่งก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางที่ต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยสิ่งที่ภาคเอกชนเสนอแนะให้เร่งแก้ไข คือ 1.การพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ 2.การจัดหาแหล่งทุนที่เหมาะสมตามความต้องการของผู้ประกอบการ 3.แก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 47.9 ลดลงจากระดับ 48.5 ในเดือนมี.ค.62 โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล, ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน, ปัญหาหนี้สินครัวเรือน, ระดับราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัว ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การจับจ่ายสินค้าและการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันสงกรานต์, การสนับสนุนการท่องเที่ยวจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs สำหรับภาคบริการ ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐฐบาลจัดสรรทรัพยากรทางการคลังให้เหมาะสม, ส่งเสริมธุรกิจในประเทศให้มีการส่งออกมากขึ้น และทำแผนรองรับปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 52.7 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 52.8 ในเดือนมี.ค.62 โดยปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับประโยชน์ไม่ทั่วถึง, ปัญหาการกระจายรายได้ในชุมชน และการชะลอตัวของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ การเดินทางของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์, การดำเนินการตามนโยบายของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ขณะที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข เช่น การลดค่าครองชีพให้ประชาชน และแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.5 ลดลงจากระดับ 47.9 ในเดือนมี.ค.62 โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล, ผลกระทบจากพายุฤดูร้อนพัดถล่มในพื้นที่, ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง และจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าที่คาด ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การท่องเที่ยวและการจับจ่ายซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์, ผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้มีผลผลิตป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น, ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวดีขึ้นตามภาวะการลงทุนที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะ คือ 1.สร้างแรงงานที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดมากขึ้น 2.สนับสนุนธุรกิจครัวเรือนที่มีขนาดเล็กให้เติบโต เพื่อลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 48.3 ลดลงจากระดับ 48.8 ในเดือนมี.ค.62 โดยมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล, ผลกระทบจากพายุฤดูร้อนที่พัดถล่มในพื้นที่, ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และจำนวนนักท่องเที่ยวชะลอลง ส่วนปัจจัยบวกสำคัญ เช่น การท่องเที่ยวและซื้อสินค้าในพื้นที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์, การลงทุนภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณดีสอดคล้องความต้องการของตลาด, สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กเริ่มคลี่คลาย ทำให้ธุรกิจภาคบริการมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่ภาคเอกชนเสนอให้เร่งแก้ไข คือ 1.ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนในพื้นที่ 2.มาตรการช่วยเหลือให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 45.4 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 45.6 ในเดือนมี.ค. โดยมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล, การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เท่าเทียมเมืองใหญ่, สภาพคล่องทางการเงินยังสวนทางกับราคาสินค้า, ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ภาคเกษตรขยายตัวจากผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน, การท่องเที่ยวและจับจ่ายสินค้าในพื้นที่ช่วงสงกรานต์, ผลผลิตอาหารทะเลแปรรูปจากต่างประเทศมีความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข คือ 1. ส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนในชุมชน 2.แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งในและนอกระบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ