สศอ.ปรับลดประมาณการ MPI ทั้งปีจาก 2.0-3.0% เป็น 1.5-2.5% ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 28, 2019 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้ปรับลดคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 62 เหลือ 1.5-2.5% จากเดิม 2.0-3.0% สอดคล้องกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม โดยพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมที่ต้องติดตาม ทั้งเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบของประเทศสำคัญๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ภาวะการค้าโลกมีสัญญาณชะลอตัวลง

นอกจากนี้ หน่วยงานและสถาบันต่างๆ ที่ชี้ข้อมูลทางเศรษฐกิจของโลก เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลด GDP ของโลกจาก 3.5% เหลือ 3.3% ธนาคารโลก (Wrld Bank) ปรับลด GDP ของไทย จาก 3.9% เหลือ 3.8% สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ปรับลด GDP จาก 3.5-4.5% เหลือ 3.3-3.8% ประกอบกับ MPI ไตรมาสแรกที่ -1.17% และ MPI ในช่วง 4 เดือน -0.5%

"ถ้าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอาจจะส่งผลให้ MPI มีแนวโน้มไม่สดใสนัก"นายอดิทัต กล่าว

สำหรับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน สศอ.ได้วิเคราะห์และสรุปได้ว่า แม้โครงสร้างการส่งออกของโลกยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในส่วนของสินค้าไทยที่เป็นวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลางที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบเช่น อิเล็กทรอนิกส์ (แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ CPU), ยางขั้นต้น รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการส่งสินค้าทางเรือ

"สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่ส่งไปจีนและส่งไปสหรัฐฯ ติดลบทั้งสองตลาด ซึ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีปัญหาในเชิงโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้วไม่ว่าจะมี Trade War หรือไม่มี Trade War ก็ตาม เนื่องจากตัวสินค้าเองที่ไม่สามารถแข่งขันได้"นายอดิทัต กล่าว

ด้านแนวทางการปรับตัวและมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต้องร่วมมือกัน ได้แก่ 1. ปรับโครงสร้างการผลิต ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สอดคล้องกับอุตสาหกรรมอนาคต เช่น EV, Robotic, Functional, Food และ AI

2. พัฒนาความร่วมมือ สร้างโครงข่ายการผลิตเป็น Supply Chain กับประเทศคู่ค้าใหม่ๆ 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อรองรับการย้ายสายการผลิต

สำหรับมาตรการที่จะดูแลผู้ประกอบการระยะสั้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายกรัฐมนตรีได้มีการหารือกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ส่วนวันพรุ่งนี้กระทรวงพาณิชย์จะมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาลู่ทาง หาช่องทางตลาดใหม่ๆ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะเข้าไปสนับสนุนข้อมูลและแนวทางการดำเนินการ

ขณะที่ผู้ประกอบการต้องรัดเข็มขัดตัวเอง เพิ่มผลิตภาพทำอย่างไรที่จะลดต้นทุน สร้างนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม

ส่วนประเด็นเรื่องการเมืองเป็นปัจจัยบวก เพราะความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเป็นบวกมากยิ่งขึ้นหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้น่าจะมีความชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ