นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบตามที่กระทรวงการคลังรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมี.ค.62 พบว่า อยู่ที่ระดับ 41.78% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นเดือน ก.ย.61 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 41.70% ต่อจีดีพี
ส่วนสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปี ณ สิ้นเดือนมี.ค.62 อยู่ 27.16% เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือน ก.ย.61 19.17% สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะโดยรวม อยู่ที่ 3.59% ลดลงจากเดือน ก.ย.61 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.86% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ อยู่ที่ 0.21% ลดลงมาจาก 0.22%
"จะเห็นได้ว่า หนี้ที่กู้จากต่างประเทศของเราค่อนข้างน้อยมาก เพราะ cost of fund ในประเทศตอนนี้ถูกกว่า อีกทั้งการกู้เงินจากในประเทศยังช่วยลดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินด้วย" นายณัฐพรระบุ
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.ยังรับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 2 ที่มีวงเงินปรับลดลงสุทธิ 17,049.47 ล้านบาท จากเดิม 1,851,137.99 ล้านบาท เป็น 1,834,043.52 ล้านบาท และรับทราบการปรับเพิ่มวงเงินของโครงการหรือรายการเดิม ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวน 20 โครงการ/รายการ รวมถึงการอนุมัติการบรรจุโครงการพัฒนาหรือโครงการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 2 จำนวน 6 รายการ
นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีสัดส่วน DSCR ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิมภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยให้ รฟท. รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย
นายณัฐพร กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังอนุมัติและรับทราบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อดำเนินโครงการลงทุนและการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 2 และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมาย เป็นผู้ลงนามผูกพันการกู้เงินและหรือการค้ำประกันเงินกู้ต่างประเทศจากแหล่งเงินกู้ทางการ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
นายณัฐพร กล่าวด้วยว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 อาจจะเริ่มใช้ได้ในเดือน ม.ค.63 ซึ่งล่าช้าไปจากปกติประมาณ 3 เดือน เนื่องจากการเลือกตั้งเพิ่งผ่านพ้นไปและยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ซึ่งตามมารยาทแล้วจะต้องให้รัฐบาลชุดใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ด้วย
"เป็นไปตามมารยาท ที่จะต้องให้รัฐบาลใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณางบประมาณ ปี 63 ด้วย ซึ่งถ้าเป็นไปตามปฏิทินเดิม เรื่องงบประมาณควรจะจบในเดือนก.ย.62 แต่พอเพิ่งมีรัฐบาลใหม่เข้ามา อาจจะทำให้ทุกอย่างอาจล่าช้าไปประมาณ 3 เดือน น่าจะมีงบประมาณปี 63 ได้ตอนเดือนม.ค.63 ซึ่งระหว่างนี้ก็จะเหมือนที่เคยผ่านมา ครั้งล่าสุด คือตอนที่รัฐบาลนี้เข้ามาเมื่อปี 57 ตอนนั้นก็ดีเลย์ไปเหมือนกัน" นายณัฐพรกล่าว
พร้อมเชื่อว่า แม้การเริ่มใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 จะต้องล่าช้าออกไป 3-4 เดือน แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบกับความต่อเนื่องในการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายในโครงการต่างๆ ที่มีอยู่เดิม หรือได้ผูกพันไว้ เนื่องจากสำนักงบประมาณได้กันเงินไว้ให้แล้วครึ่งหนึ่ง เพื่อไม่ให้การอนุมัติงบประมาณในโครงการต่างๆ ต้องสะดุด ซึ่งในเบื้องต้นจะยึดตามกรอบของงบประมาณปี 62 ไปก่อน
"ผอ.สำนักงบฯ แจ้งว่า งบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบรายจ่ายประจำอยู่แล้วกว่า 80% ส่วนที่เหลือ จะเป็นงบ เช่น งบ 30 บาท (หลักประกันสุขภาพ) งบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เลื่อนออกไป 3 เดือน ก็ไม่ค่อยมีผลกระทบ...สำนักงบประมาณฯ เห็นว่าอะไรที่ไม่ใช่โครงการใหม่ เป็นของเดิม หรือโครงการที่ผูกพันอยู่แล้ว สำนักงบฯ จะอนุมัติจ่ายเงินให้ครึ่งหนึ่งก่อน ดังนั้น เขากันเงินไว้แล้วครึ่งปี หากมันจะดีเลย์ไป 3-4 เดือน ก็ไม่มีปัญหา" นายณัฐพรระบุ