นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จาก IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 พบว่า เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับสูงสุด 5 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับ 1 แทนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งลดอันดับลงไปเป็นที่ 3 รองลงมา คือ ฮ่องกง, สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สำหรับเขตเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ 5 เขตเศรษฐกิจ มีอันดับดีขึ้นเกือบทั้งหมด ประกอบด้วยสิงคโปร์ ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 มาเลเซีย อันดับคงที่ที่ 22 เช่นเดียวกับปีก่อน ส่วนไทยสูงขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 เป็น 25 ส่วนอินโดนีเซียอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 43 เป็น 32 และฟิลิปปินส์ จากอันดับที่ 50 เป็น 46
เมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับของไทย จากผลการจัดอันดับที่แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ, ประสิทธิภาพของภาครัฐ, ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน มีผลการจัดอันดับดีขึ้น 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านสภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจลดลง 2 อันดับ
"เป็นที่น่ายินดีที่ในปีนี้ผลการจัดอันดับของประเทศไทย ดีขึ้นถึง 5 อันดับ โดยที่ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 2 อันดับ ในด้านเศรษฐกิจนั้น ปรากฎว่าด้านการลงทุนต่างประเทศ มีอันดับที่ดีขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะที่การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจก็ส่งผลให้อันดับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประสิทธิภาพภาครัฐ ดีขึ้นถึง 4 อันดับ ซึ่งนับว่าเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีแนวทางที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการปรับกฎระเบียบให้ทันสมัย คล่องตัว และส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในการให้บริการให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างในทุกด้าน และกำลังผลักดันต่อไปให้เกิดผลอย่างต่อเนื่อง และในวงที่กว้างขวางมากขึ้น" เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว
อนึ่ง IMD ได้ทำการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก
ส่วนผลการจัดอันด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจที่ลดลง 2 อันดับนั้น นายทศพร กล่าวว่า เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลในการประกอบธุรกิจยังด้อยกว่าประเทศอื่นๆ และความสามารถในการรับมือดิสรัปชั่นยังไม่ดีพอ จึงต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้มีการปรับตัวในทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลด้วย และแรงงานของไทยยังมีคุณภาพไม่เพียงพอ
ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐาน แม้อันดับดีขึ้น แต่ในหมวดนี้ได้รวมด้านการศึกษาที่ยังมีปัญหาอยู่ จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาการศึกษาและปรับวิธีการเรียนการสอน รวมถึงยังมีปัญหาในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ยังต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งทางสภาพัฒน์จะมีการรวบรวมประเด็นเหล่านี้ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป และเชื่อว่ามีความต่อเนื่องในด้านนโยบายจะส่งผลให้การจัดอันดับของไทยดีขึ้นด้วย
"เป้าหมายการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดเป้าหมายขึ้นเป็นที่ 2 ในกลุ่มอาเซียน ภายใน 5- 10 ปี แซงหน้ามาเลเซีย และหากดูจากผลการจัดอันบใน 4 ด้านเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ไทยมีอันดับที่ดีกว่าทั้งด้านสภาวะเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพของภาครัฐ ซึ่งทางภาครัฐจะทำงานต่อไปเพื่อสู้กับมาเลเซียให้ได้"นายทศพร กล่าว
ด้านน.ส.วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ในปีนี้ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับเป็นอันดับที่ 25 ซึ่งนับเป็นอันดับสูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ผลการจัดอันดับดีขึ้น ยังมีประเด็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นรากฐานของการสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวที่มีอันดับสูงขึ้นถึง 4 อันดับจากปีที่แล้ว อันเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องของทั้งภาครัฐและเอกชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศเพิ่มอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชนที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) จากสัดส่วนการลงทุนทั้งหมด 1% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นประเด็นท้าทายของประเทศ คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาช่วยเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจขนาดย่อมและภาคการเกษตร รวมถึงการพัฒนากำลังคนให้เท่าทันเทคโนโลยีและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ได้ลงทุนไป เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้และบริการทางสังคมต่างๆอย่างเต็มที่
"เป้าหมายของ TMA ยังคงมุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งในระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับประเทศ ภายใต้แนวคิดหลัก 3 ประการ คือ การสร้างความร่วมมือ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการเพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำและบริหารจัดการ" น.ส.วรรณวีรากล่าว
โดยในวันที่ 3 - 4 กรกฎาคม 2562 สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จะมีการจัดสัมมนา "Thailand Competitiveness Conference 2019" ภายใต้หัวข้อ Rethinking the Future ที่จะกล่าวถึงสภาพการแข่งขันภายใต้บริบทใหม่ของโลก ความพร้อม และอนาคตของประเทศไทยในโลกยุคใหม่ รวมถึงการร่วมกันจัดทำโครงการต้นแบบสำหรับอนาคต