22 แบงก์เตรียมให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชน มิ.ย.62 ตั้งเป้าใช้งานเพิ่ม 50% ภายใน 3 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 29, 2019 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ความร่วมมือภายใต้ Thailand Blockchain Community Initiative มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการศึกษาเทคโนโลยี Blockchain และนำมาพัฒนาเป็นบริการที่จับต้องได้จริงในภาคการเงินและภาคธุรกิจ ซึ่งเริ่มต้นจากธนาคารพาณิชย์ 14 ราย ร่วมกับรัฐวิสาหกิจ และธุรกิจขนาดใหญ่ในปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมเพิ่มเติมเป็น 22 ราย และมีการจัดตั้งบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนเป็นบริการแรก

"นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือ และขยายชุมชน Blockchain ของไทยให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง สามารถรองรับบริการที่หลากหลายในอนาคต และช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ จากการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน (shared infrastructure) และเทคโนโลยี Blockchain ร่วมกัน ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ไม่เฉพาะต่อภาคการเงินของไทย แต่จะมีประโยชน์โดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนและการให้บริการของภาครัฐด้วย หวังว่าบีซีไอจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขยายความร่วมมือด้าน Blockchain ในวงกว้างมากขึ้นต่อไป ทั้งในแง่บริการที่หลากหลายและครอบคลุมกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่มากขึ้น" นายวิรไทกล่าว

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อกเชนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และมีการนำมาใช้กว้างขวางมากขึ้น ในขณะที่ในประเทศไทยก็เริ่มใช้บล็อกเชนในทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย สามารถลดการจัดการเอกสารที่เป็นกระดาษได้มาก

ดังนั้นเพื่อยกระดับความร่วมมือ Thailand Blockchain Community Initiative อย่างเป็นรูปธรรม จึงร่วมกันจัดตั้ง บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัดขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับประเทศของสถาบันการเงินและองค์กรต่าง ๆ ในการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสร้างบริการที่ทันสมัยภายใต้การกำกับดูแลที่ดี ด้วยการเชื่อมต่อทุกธนาคารที่เข้าร่วมด้วยแพลทฟอร์มเดียวกัน เพื่อพัฒนาและต่อยอดระบบให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และผลักดันเทคโนโลยีให้เข้าถึงทุกกลุ่มธุรกิจ เสริมประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับการแข่งขันให้กับธุรกิจและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นบริการแรกของบริษัทที่มุ่งหวังให้ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถเข้าถึง ใช้งานได้จริง ด้วยต้นทุนที่รับได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการจัดการเอกสารและการดูแลข้อมูล ตลอดจนลดขั้นตอนในการทำงาน ภายใต้ความปลอดภัยระดับโลก โดยเป็นการรับรองหนังสือค้ำประกันผ่านระบบ Cloud Technology ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งช่วยให้การใช้งานคล่องตัว ปลอดภัย เชื่อถือได้ ป้องกันการปลอมแปลงหนังสือค้ำประกัน รองรับการทำธุรกรรม และสามารถตรวจสอบสถานะได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการ ทำให้ผู้ออกหนังสือค้ำประกันสามารถวางหนังสือค้ำประกันได้เร็วขึ้น ผู้รับวางหนังสือค้ำประกันสามารถตรวจสอบเอกสารได้อย่างรวดเร็วบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100%

นายปรีดี กล่าวว่า บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชน จะเริ่มใช้งานในเดือนมิ.ย.62 ภายใต้การทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. และสามารถรองรับองค์กรที่เป็นผู้รับหนังสือค้ำประกันเพิ่มได้ในไตรมาส 3 และในอนาคตจะมีการพัฒนาบริการอื่น ๆ บนเทคโนโลยีบล็อกเชนเพิ่มขึ้นด้วย

"ตั้งเป้าเพิ่มการใช้งานหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชนเป็น 50% ของหนังสือค้ำประกันทั้งประเทศ ภายใน 3 ปี จากมูลค่าหนังสือค้ำประกันผ่านระบบสถาบันการเงินไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 1.35 ล้านล้านบาท จำนวนมากกว่า 500,000 ฉบับต่อปี" ประธานสมาคมธนาคารไทยระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ