ส่งออกไทยสะดุดท่ามกลางสงครามการค้ายืดเยื้อ จับตา"พาณิชย์"หั่นเป้าแก้เกมช่วงที่เหลือของปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 29, 2019 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าสงครามการค้าระหว่าง"พญาอินทรี VS พญามังกร"สร้างแรงกระเพื่อมไปสู่หลายประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งผลกระทบทางตรงและอ้อม โดยเฉพาะผลกระทบทางตรงจากการที่สหรัฐฯ และจีนยังคงออกนโยบายตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันส่อแววสงครามการค้ายืดเยื้อทำให้การค้าและการส่งออกของหลายประเทศสะดุด ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมได้ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน อย่างกรณีของไทย

ทั้งนี้ สหรัฐฯ เดินหน้ากดดันจีนอย่างเต็มรูปแบบด้วยการประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนกลุ่ม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(จำนวน 5,745 รายการ) เป็น 25% (มีผลบังคับใช้วันที่ 10 พ.ค.62) และขู่ว่าจะขึ้นภาษีเพิ่มเติมอีกประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้เปิดเผยร่างรายการสินค้าประมาณ 3,800 รายการ และจะจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือน มิ.ย.62 ในขณะที่จีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จำนวน 5,140 รายการ มีผลบังคับใช้ 1 มิ.ย.62) เพื่อตอบโต้กลุ่มภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์ว่ามาตรการสินค้าของสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้า 2 แสนล้านดอลลาร์ และการตอบโต้ของจีน ในกลุ่มสินค้า 60,000 ดอลลาร์นั้น เป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ก.ย.61 แต่สหรัฐฯ ปรับอัตราภาษีจาก 10% เป็น 25% และจีนปรับอัตราภาษีเป็น 5–25% แต่ได้ตัดสินค้าจำนวน 67 รายการ (ส่วนใหญ่ คือ อุปกรณ์รถยนต์ เช่น เบรค ล้อรถ คลัช เพลา/แกนรถ ถุงลมนิรภัย) ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ไตรมาส 4/61 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสินค้ากลุ่มนี้มีนัยสำคัญและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย

สนค.ประเมินว่า มาตรการระหว่างกันล่าสุดในสินค้ากลุ่มนี้จะไม่ส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว และผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับตัว ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ตัวเลขการส่งออกเดือน เม.ย.62 มีแนวโน้มหดตัวในอัตราลดลง โดยคาดว่าผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับกลยุทธ์ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และมาผลิตในประเทศที่สาม (นอกประเทศจีน) มากขึ้น เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน

และเมื่อพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่ขึ้นภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯ และ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในฝั่งจีน พบว่าไทยยังมีโอกาสส่งออกสินค้าเพื่อชดเชยผลกระทบจากการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน โดยสินค้ากลุ่มที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก ได้แก่ ผักและผลไม้สดและแปรรูป เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็ง อาหารปรุงแต่ง เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ยาง

สำหรับสินค้าล็อตใหม่ที่สหรัฐฯ เตรียมขึ้นภาษีจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์นั้น เป็นสินค้าส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน โดยส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าอุปโภคและบริโภค อาทิ อาหาร อุปกรณ์/เครื่องใช้ภายในบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับ ซึ่งหากสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีจริง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค และประเมินว่าในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานจีนจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับมาตรการที่ผ่านมา และไทยมีโอกาสที่จะส่งออกเพิ่มในตลาดสหรัฐฯ กว่า 725 รายการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 200-1,000 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นสินค้าที่ไทยมีด้วยส่วนแบ่งตลาดและความสามารถทางการแข่งขันในรายสินค้าสูง ประกอบกับภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค อาทิ อาหารและเครื่องปรุงอาหาร น้ำผลไม้ ขิง ชาเขียว เสื้อผ้าและผ้าผืน รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ และของใช้ในบ้าน

ทั้งนี้ แม้กระทรวงพาณิชย์จะวิเคราะห์ว่าปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน อาจจะไม่ได้มีแต่มุมที่สร้างวิกฤตให้กับการส่งออกของไทยเพียงด้านเดียว เพราะในอีกมุมหนึ่งก็ยังเป็นโอกาสที่ไทยจะใช้ช่องทางนี้ในการช่วงชิงและขยายตลาดสินค้าไทยเพื่อทดแทนสินค้าของประเทศที่มีปัญหาตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันได้ก็ตามนั้น ก็ไม่ได้ทำให้หลายหน่วยงานวางใจกับสถานการณ์นี้เท่าใดนัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าล่าสุด หลายหน่วยงานต่างออกมาประเมินการส่งออกไทยในปีนี้ในมุมมองที่แย่ลง ส่งผลไปถึงการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ให้ลดลงไปด้วยเช่นกัน

เริ่มจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/62 มีอัตราการขยายตัวเพียง 2.8% ต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาส 4/57 โดยยอมรับว่าภาคการส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยได้ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลให้การส่งออกของไทยในไตรมาสแรกปีนี้ลดลง -3.6% ในขณะที่ไตรมาส 4/61 การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ 2.3%

โดยล่าสุด สภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการส่งออกไทยปีนี้ลงเหลือ 2.2% จากเดิมที่เคยคาดไว้ 4.1% และนี่จึงเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้สภาพัฒน์ต้องปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 3.6% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4%

"การเติบโตของจีดีพีในไตรมาส 1/62 เติบโตได้น้อยกว่าที่เราคาดไว้ ดังนั้นเมื่อจีดีพีไตรมาสแรกมันต่ำมาก การจะทำให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีเติบโตได้ถึง 4% นั้น โอกาสมันก็คงจะลดลง" นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ

พร้อมมองว่า ต้องขับเคลื่อนการส่งออกไทยในปีนี้ให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% โดยให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ตลอดจนสนับสนุนการขยายความร่วมมือทางการค้ากับประเทศที่ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางการค้า และประเทศที่จะมีบทบาทในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศให้มากขึ้น

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การส่งออกไทยในปีนี้มีโอกาสเติบโตได้เพียง 0.5% เท่านั้น ซึ่งลดลงจากก่อนหน้าที่เคยคาดไว้ว่าจะเติบโตได้ 3.9% เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจจีนประสบปัญหาชะลอตัวกว่าที่คาดไว้เช่นกัน นอกจากนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังทำให้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวน ซึ่งภาวะต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นอย่างมาก จึงทำให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 3.5% จากก่อนหน้าที่เคยคาดไว้ 3.8%

"เรามองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.5% ซึ่งอยู่ในสมมติฐานที่ว่าสหรัฐฯ และจีนจะไม่มีการปรับภาษีขึ้นไปมากกว่าระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว และการที่ส่งออกไทยปีนี้จะโตได้ 0.5% นั้น มูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือ จะต้องทำได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังลากยาว และยังเป็นความเสี่ยงอยู่มาก" นายธนวรรธน์กล่าว

ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือ 3.0% จากเดิมที่มองไว้ 3.5% เหตุตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกชะลอมากกว่าคาด ทำให้แรงส่งต่อไปยังในช่วงที่เหลือมีข้อจำกัด แม้ความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นหลังจากฟอร์มรัฐบาลใหม่ ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกสงครามการค้าถึงทางตัน จึงยากที่จะเห็นเครื่องยนต์ส่งออกกลับมาในปีนี้

โดยประเมินว่าการส่งออกไทยในปีนี้ยังคงอ่อนแอ คาดว่าทั้งปีจะโตได้เพียง 0.5% เท่านั้น ซึ่งในช่วงจากนี้ต่อไป ปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศจะส่งผลกระทบมากขึ้น ทั้งเศรษฐกิจหลักที่เป็นคู่ค้าชะลอตัวมากขึ้นกระทบซัพพลายเชนโลกชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ และแรงกดดันสงครามการค้าที่ตอบโต้กันไปมาด้วยการขึ้นภาษีทำให้ปริมาณการค้าโลกอยู่ภาวะตกต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกไทย แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดี แต่แรงส่งก็ไม่เพียงพอให้ภาพการค้าโลกดีขึ้น โดยเฉพาะจากตลาดจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง และตลาดยุโรปที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงของ Brexit ที่ค้างคา

"เราประเมินยอดส่งออกของไทยไปตลาดยุโรปจะไม่ขยายตัว และหดตัวในตลาดจีนราว 5% ขณะที่ตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่นยังขยายตัวได้ในอัตราชะลอลง ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งออกไปตลาดสหรัฐได้ต่ำกว่าคาด หากโดนตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าราว 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 16% ของยอดส่งออกไปสหรัฐ ทำให้ภาคส่งออกทรุดตัวต่ำกว่าคาดได้อีก" นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร TMB Analytics ระบุ

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 62 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 3.3% ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่ 3.6% เนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อภาคการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งมากกว่าที่คาดในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา และยังรวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดด้านสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่กลับมาปะทุอีกครั้ง ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยโดยตรง โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าส่งออกของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าจีนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดแผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ สงครามการค้ายังส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากความตึงเครียดด้านการค้าและการลงทุนของโลกที่เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มเป็นปัจจัยทางอ้อมที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าของไทยได้อีกทางหนึ่ง

"อีไอซีจึงประเมินว่า การส่งออกไทยปี 62 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.7% ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.6% เหลือขยายตัวเพียง 3.3% ในปีนี้" บทวิเคราะห์ระบุ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 62 ไว้ที่ 3.7% เพื่อรอประเมินปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งหากสถานการณ์สงครามการค้ายังลากยาวออกไป จะส่งผลกระทบให้ GDP ทั้งปี 62 ขยายตัวโน้มเข้าสู่กรอบล่างของประมาณการที่ 3.2-3.9%

สำหรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 62 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประการ จากประเด็นเรื่องสงครามการค้า และปัจจัยการเมืองในประเทศ โดยประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังมีความเสี่ยงที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกันเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ซึ่งยังต้องติดตามผลการเจรจาระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่คาดว่าจะมีการพบปะพูดคุยกันในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มิ.ย.62

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จะมีผลต่อบรรยากาศการค้าโลก ตลอดจนภาพรวมการส่งออกทั้งปีของไทยให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในปัจจุบันที่ 3.2% (กรอบประมาณการ 2.5-3.5%)

ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามจะกระตุ้นการส่งออกผ่านทั้งแนวทางการช่วงชิงโอกาส (Speed) และการใช้กลยุทธ์ (Strategy) เพื่อเร่งผลักดันการจำหน่ายสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งเตรียมแนวทางการรับมือในเรื่องสงครามการค้า และกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การค้าระยะยาว ที่จะต้องพิจารณาระบบการค้าและการลงทุน (Trade & Investment Ecosystem) ทั้งระบบให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของการค้า โดยเน้นผลักดันและกระตุ้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์ จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก เพื่อประเมินผลกระทบสงครามการค้าและสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ร่วมกัน และน่าจะได้เห็นความชัดเจนว่า ท่ามกลางมรสุมของสงครามการค้าที่ยากเกินกว่าจะต้านทานไหวนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสียงอ่อนยอมถอยร่นเป้าหมายการส่งออกไทยลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 8% หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ