นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2562 พบว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2562 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการใช้จ่ายภายในประเทศผ่านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง ซึ่งขยายตัวสูงถึง 16.9% ต่อปี ประกอบกับการกลับมาขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่นำโดยนักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซียเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ายังคงหดตัว -2.6% ต่อปี ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับมั่นคงทั้งภายในและภายนอก
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2562 ยังคงขยายตัวจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง และการนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงปรับตัวลดลง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 1.6% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก พบว่าขยายตัวที่ 2.5% จากเดือนก่อนหน้า ทำให้ 4 เดือนแรกของปีขยายตัว 1.6% ต่อปี
ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 16.9% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัว 2.8% จากเดือนก่อนหน้า ทำให้ 4 เดือนแรกของปี ขยายตัวในระดับสูงที่ 14.6% ต่อปี ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.1% ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณรถจักรยานยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 62 หดตัวที่ -0.1% ต่อปี ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.4% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัว 6.7% ต่อเดือน ทำให้ 4 เดือนแรกยังขยายตัวได้ 2.1% ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 66.2
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2562 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่แล้ว จากการลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอตัว สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว 3.7% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัว 3.3% ต่อเดือน ทำให้ 4 เดือนแรกของปีขยายตัวที่ 8.0% ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ 1.6% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนสะสม 4 เดือนแรกยังคงหดตัวเป็นผลจากการหดตัวอย่างมากใน 3 เดือนก่อนหน้า ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ หดตัวที่ -5.4% ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัว 0.7% ต่อเดือน ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวที่ -20% ต่อปี และเมื่อปรับผล ทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัว -14% จากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวที่ 0.7% ต่อปี
อุปสงค์จากต่างประเทศในเดือนเมษายน 2562 ยังคงหดตัว สะท้อนจากการส่งออกสินค้าหดตัวตามการหดตัวของสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงหดตัว -2.6% ต่อปี ทำให้ 4 เดือนแรกหดตัว -1.9% ต่อปี ตลาดคู่ค้าสำคัญยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย CLMV มาเลเซีย และฮ่องกง ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวชะลอลงอยู่ที่ -0.7% ต่อปี ทำให้มูลค่านำเข้าช่วง 4 เดือนแรกของปียังคงหดตัว -1.1 ต่อปี แม้ว่าเดือนเมษายน 2562 ดุลการค้าขาดดุลมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ดุลการค้าช่วง 4 เดือนแรกของปี ยังคงเกินดุล 0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนเมษายน 2562 ส่งสัญญาณหดตัวในภาคเกษตร ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ โดยภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัว -1.1% ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว 3.5% จากเดือนก่อน ดัชนีราคาสินค้าในหมวดพืชผลสำคัญหดตัว -4.2% ต่อปี ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงขยายตัวที่ 12.8% และ 0.6% ต่อปี ตามลำดับ
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเมษายน 2562 มีจำนวน 3.2 ล้านคน ขยายตัว 3.3% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียญี่ปุ่น และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนหดตัวที่ -8.9% ต่อปี ซึ่งนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้ 4 เดือนแรกขยายตัวได้ 2.1% ต่อปี สำหรับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนเมษายนมีมูลค่า 164,112 ล้านบาท ขยายตัว 3.9% ต่อปี ส่วนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 2% ต่อปีและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในเดือนเมษายน 2562 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.2% ต่อปี ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงทรงตัวที่ 0.6% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงาน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 41.8% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน อยู่ในระดับสูงที่ 210.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ