นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ผู้ส่งออกไทยควรใช้โอกาสความได้เปรียบจากแต้มต่อทางภาษีศุลกากรเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดของตุรกีในตลาดสหรัฐฯ หลังได้รับแจ้งล่าสุดว่า สหรัฐฯ ได้ประกาศถอดถอนตุรกีออกจากบัญชีประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปของสหรัฐอเมริกา (GSP) แล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โครงการ GSP สหรัฐฯ ให้ยกเว้นภาษีนำเข้าแก่สินค้ากว่า 3,400 รายการ ที่ส่งออกและมีถิ่นกำเนิดสินค้าในประเทศซึ่งอยู่ในบัญชีประเทศผู้รับสิทธิ โดยสินค้าที่เข้าข่ายว่ามีถิ่นกำเนิดไทยและสามารถขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ได้นั้นต้องเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นหรือได้มาทั้งหมดในประเทศไทย (WO) หรือมีสัดส่วนวัตถุดิบภายในไทยไม่น้อยกว่า 35% ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้โครงการ GSP สหรัฐฯ ในสินค้าประมาณ 1,200 รายการ โดยในปี 2561 มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 4,248.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 13% ของมูลค่าการค้าไปสหรัฐฯ และมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 67.51% สำหรับรายการสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุดได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮล์ (น้ำผลไม้) เลนส์แว่นตา ส่วนประกอบยานยนต์
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ตุรกีย่อมส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกจากประเทศดังกล่าวต้องเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติ ขณะที่ไทยยังคงได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ที่ผ่านมาตุรกีเป็นประเทศที่มีการใช้สิทธิประโยชน์เป็นอันดับ 5 มีสัดส่วนการใช้สิทธิอยู่ที่ประมาณ 8% ดังนั้นไทยจึงควรใช้ความได้เปรียบด้านภาษีเป็นแต้มต่อในการเพิ่มหรือเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดของตุรกีในกลุ่มสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบยานยนต์ และโพลีอะซีทัล