น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากนโยบายการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล ที่มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่ในการรองรับการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวในปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาท่าเรือฯมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ส่งผลทำให้นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นขยายการลงทุนมาในนิคมฯเพิ่มขึ้น จะเห็นจากผลการดำเนินงานของ กนอ. ในรอบ 6 เดือน (ต.ค.61-มี.ค.62) ที่ผ่านมา มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมฯ อยู่ที่ 1,339 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ต.ค.60-มี.ค.61) จำนวน 525 ไร่ หรือคิดเป็น 5.25% มูลค่าลงทุนรวม 8,593 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าว เป็นพื้นที่นิคมฯใน EEC ถึง 1,328 ไร่ นิคมฯนอกพื้นที่ EEC จำนวน 11 ไร่ และก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มอีก ประมาณ 1,585 คน
"การที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาท่าเรือฯมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน และโครงการอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นความชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมทั้งมาตรการต่างๆที่รัฐมุ่งส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง S-Curve และ New S-Curve ตลอดจนยังมีปัจจัยจากต่างประเทศที่หนุนการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจีนเข้าไทยมากขึ้นจากกรณีที่สหรัฐฯได้ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในรอบ 2 ทำให้สงครามการค้ามีความรุนแรงมากขึ้นเป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนจีนตัดสินใจที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศเร็วขึ้น ซึ่งไทยถือเป็นประเทศเป้าหมาย และเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลดีให้ยอดขายและเช่าที่ดินทั้งปีของ กนอ.เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อยู่ที่ 3,500 ไร่"น.ส.สมจิณณ์ กล่าว
สำหรับทิศทางการลงทุนที่นักลงทุนจะเข้ามาซื้อและเช่าพื้นที่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 กนอ.คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมที่เชื่อมโยงเส้นทางการค้าการลงทุนเต็มรูปแบบมากขึ้น รวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลที่จะได้ข้อสรุปและการประกาศนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไป
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในนิคมฯไทยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อยู่ในอันดับ TOP 5 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมคลังสินค้า อุตสาหกรรมยาง พลาสติกและหนังเทียม อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ และ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ และกลุ่มประเทศที่เข้ามา 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งปัจจุบัน กนอ.มีศักยภาพที่พร้อมรองรับการลงทุน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆที่ครบถ้วน แล้ว กนอ.ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการให้บริการกับนักลงทุนแบบครบวงจรเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการติดต่อกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขอใบอนุมัติ และใบอนุญาต ผ่านศูนย์ให้บริการของ กนอ.Total Solution Center (TSC) โดยศูนย์บริการดังกล่าวจะให้บริการที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง
อนึ่ง ภาพรวมการลงทุนในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ทั้งนิคมฯบริหารงานเอง และนิคมฯร่วมดำเนินงานในพื้นที่นิคมฯ จำนวน 55 แห่ง 16 จังหวัด ทั่วประเทศ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น ประมาณ 165,608 ไร่ โดยมีนิคมฯที่เปิดดำเนินการแล้ว จำนวน 49 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนาเปิดดำเนินการอีก 6 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมฯ อมตะชิตี้ (โครงการ 2) 2.นิคมฯ ดับบลิวเอชเอระยอง 36 3.นิคมฯ ปิ่นทอง (โครงการ 4) 4.นิคมฯยามาโตะอินดัสทรีส์ 5.นิคมฯหนองคาย 6.นิคมฯสงขลา รวมพื้นที่เพื่อขาย/เช่า ประมาณ 109,884 ไร่ โดยปัจจุบันมีพื้นที่ขาย/เช่าแล้วทั้งสิ้น 90,222 ไร่ และพื้นที่คงเหลือ สำหรับ ขาย/ให้เช่า ประมาณ 19,662 ไร่ ก่อให้เกิดเม็ดเงินการลงทุนในนิคมฯสะสมรวมอยู่ที่ 3,827,908 ล้านบาท มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 479,583 คน