นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 อนุมัติให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 36,605 ราย คิดเป็นยอดหนี้เงินต้น 6,382 ล้านบาท และดอกเบี้ย 3,829 ล้านบาท โดยเงินต้นครึ่งหนึ่งให้เกษตรกรผ่อนจ่ายตามกรอบเวลาไม่เกิน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยที่อัตรา MRR-3 และเมื่อเกษตรกรผ่อนจนหมดแล้ว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จะพิจารณายกดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ ส่วนเงินต้นที่เหลืออยู่อีกครึ่งก็ให้เกษตรกรมา ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่
อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2542 มีสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้ 468,558 ราย วงเงินเป็นหนี้ 58,823 ล้านบาท แต่ตลอดระยะนับ 19 ปี กองทุนฯ สามารถจัดการหนี้ได้เพียง 29,000 กว่าราย มูลหนี้ประมาณ 6,000 ล้านบาท ต่อมารัฐบาลมอบหมายให้ กระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ เข้าไปทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ย ระหว่างเกษตรกรลูกหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้จนสามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่เกษตรกรที่มี คุณสมบัติ ตามหลักเกณฑ์ โดยซื้อหนี้มาเป็นของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 1,518 ราย วงเงินเป็นหนี้รวม 642 ล้านบาท
"เมื่อพิจารณาผลงานแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นหนี้สิน ตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนฯ ตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2543 มานั้น จึงถือได้ว่าเป็นรัฐบาลแรกที่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สิน เกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ ได้อย่างเป็นระบบโดยไม่เสียวินัยการเงินการคลังของประเทศ นอกจากนั้น ยังปรับแก้ไข สาระสำคัญของร่างกฎหมายกองทุนฟื้นฟู ฯ คือ กำหนดให้การชำระหนี้แทนเกษตรกรทั้งทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และบุคคลค้ำประกัน ได้กำหนดวิธีการในการชำระหนี้แทนเกษตรกรกรณีบุคคลค้ำประกันให้ชัดเจน โดยให้กองทุน ชำระหนี้แทนได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อให้สามารถขยายขอบเขตการชำระหนี้ให้ครอบคลุม เกษตรกรที่มีปัญหามากยิ่งขึ้นอีกด้วย" นายกฤษฎา กล่าว