รฟม. เปิดให้ทดลองนั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค 12 ส.ค.62 คาดหนุนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 8 แสน/วันจาก 3 แสน/วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 5, 2019 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจติดตามความก้าวหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ที่สถานีสนามไชยว่า จะมีการเปิดทดลองเดินรถ โดยให้ประชาชนได้ร่วมใช้บริการฟรีช่วงหัวลำโพง – บางแค ในวันที่ 12 ส.ค. 62 และเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ภายในเดือนก.ย. 62 ส่วนช่วงเตาปูน – ท่าพระ จะทดลองการเดินรถในวันที่ 1 ม.ค. 63 และเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ในเดือนมี.ค. 63

"ขณะนี้การดำเนินงานด้านระบบไฟฟ้าต่างๆ เกือบจะแล้วเสร็จ และอยู่ในช่วงการทดลอง ซึ่งบมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้ทยอยนำขบวนรถใหม่เข้าทดสอบ เพื่อความมั่นใจในการให้บริการ"

ปัจจุบันสายสีน้ำเงินที่เป็นระบบใต้ดิน มี 19 สถานี รวมส่วนต่อขยาย จะมีทั้งสิ้น 38 สถานี มีระยะทางรวม 48 กม. ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่สำคัญเนื่องจากวิ่งเป็นวงกลม จะเพิ่มจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร ช่วยลดความแออัดของสถานีร่วมเช่น ที่สยาม เป็นต้น ขณะเมื่อเปิดเดินรถสายสีน้ำเงินครบเป็นวงกลม จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารสายสีม่วง กรณีเดินทางเข้าเมือง ผู้โดยสารจะมีทางเลือกเพราะสามารถมาต่อสายสีน้ำเงิน

นอกจากนี้ ในวันที่ 12 ส.ค.62 นี้จะมีการเปิดทดลองเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วง สถานีหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว จำนวน 1 สถานีอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการให้บริการฟรี เช่นกัน

นายไพรินทร์ กล่าวถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ ว่า ในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 16 บาทสูงสุด ไม่เกิน 42 บาท กรณีใช้สายสีน้ำเงินต่อกับสีม่วงค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาทตลอดสาย โดยยกเว้นค่าแรกเข้าที่ 16 บาท ภาพรวมค่าโดยสารเมื่อเทียบกับระยะทางกว่า 70 กม. มีความเหมาะสมระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ กรณีที่ผู้โดยสารที่ไม่ได้ใช้บริการประจำ อาจจะรู้สึกราคาสูง แต่หากใช้ประจำ มีจะมีระบบตั๋วเดือนที่จะมีราคาถูกลงจากตั๋วเที่ยวเดียว และถูกกว่าเมื่อเทียบกับระบบขนส่งอื่นเช่นจักรยานยนต์รับจ้าง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเพิ่งลงทุนระบบรถไฟฟ้า ต้นทุนปัจจุบันสูงกว่าแต่ได้ระบบที่ใหม่และทันสมัยกว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่านอกจากนี้ไทยมีหลายผู้ให้บริการ ซึ่งมีเงื่อนไขสัญญา ทั้งนี้ เรื่องโครงสร้างค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอนาคต จะเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางราง ที่จะนำข้อเท็จจริงทางวิชาการมาพิจารณาค่าโดยสารโดยเฉพาะระบบที่เชื่อมต่อกัน แต่ผู้ให้บริการคนละราย

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างเร่งการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (M&E Work) ซึ่งมีความคืบหน้าไปกว่า 80.63% โดยแบ่งเป็นความคืบหน้างานระบบรถไฟฟ้าช่วงหัวลำโพง – บางแค 89.73% และช่วงเตาปูน – ท่าพระ 68.69% (ณ สิ้นเดือนพ.ค.62)

สำหรับความคืบหน้าในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้านั้น บริษัทผู้ผลิตได้ขนส่งรถไฟฟ้าขบวนใหม่มาถึงยังประเทศไทยภายในสัปดาห์นี้จะมีจำนวน 4 ขบวน (3 ตู้ต่อขบวน) และจะทยอยส่งมอบอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนก.ค.62 จะมีขบวนรถไฟฟ้ามาเพิ่มเป็น 10 ขบวน ในเดือนก.ย.62 จะมีขบวนรถไฟฟ้ามาเพิ่มเป็น 16 ขบวน และในเดือนม.ค.63 จะมีรถประมาณ 30 ขบวน ในเดือนก.พ.63 จะมีขบวนรถไฟฟ้ามาเพิ่มจนครบทั้งหมด 35 ขบวน

"ปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT มีผู้โดยสารกว่า 3 แสนคน/วัน คาดว่าเปิดเดินรถส่วนต่อขยายครบวงกลม จะทำให้ผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินทั้งหมดขึ้นเป็น 8 แสนคน/วัน"

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) ที่มีความจุสูง มีระยะทางรวมประมาณ 27 กิโลเมตร โดยโครงการฯ มีแนวเส้นทางต่อขยายจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ) ซึ่งเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ออกไป 2 ทิศทาง ได้แก่ ช่วงหัวลำโพง – บางแค ระยะทาง 16 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินจำนวน 4 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับจำนวน 7 สถานี และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ระยะทาง 11 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับทั้งหมด จำนวน 8 สถานี ซึ่งจะทำให้แนวเส้นทางของรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ หรือ Circle Line ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ