นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์ที่สหราชอาณาจักรขอถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับแก้ไขตารางข้อผูกพันภาษีที่ไทยและประเทศอื่นจะได้รับการจัดสรรจากสหภาพยุโรป (EU 27) และสหราชอาณาจักร (UK) ภายหลังจาก Brexit ซึ่งเมื่อวันที่ 30 ม.ค.62 สหภาพยุโรปได้ออกประกาศระเบียบการจัดสรรโควตา Regulation (EU) 2019/216 กำหนดสัดส่วนโควตาระหว่าง EU 27 และ UK โดยสัดส่วนโควตาที่จัดสรรภายใต้กฎระเบียบนี้จะมีผลบังคับใช้ภายหลังจาก Brexit
โดยในปี 2561 สหภาพยุโรป (EU 27) นำเข้าปลาซาร์ดีนแปรรูปจากไทยเป็นอันดับ 3 ปริมาณ 42 ตัน สัดส่วน 1.1% ของการนำเข้าจากทั่วโลก (นำเข้าจากโมร็อกโกเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วน 91%) นำเข้าปลาทูน่าแปรรูปจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง ปริมาณ 5,094 ตัน สัดส่วน 21% ของการนำเข้าจากทั่วโลก นำเข้ากุ้งแช่แข็งจากไทยเป็นอันดับ 13 ปริมาณ 1,402 ตัน สัดส่วน 1.6% ของการนำเข้าจากทั่วโลก (นำเข้าจากเวียดนามเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วน 25%) และนำเข้าปลาแปรรูปจากไทยเป็นอันดับ 13 ปริมาณ 299 ตัน สัดส่วน 1.2% ของการนำเข้าจากทั่วโลก (นำเข้าจากตุรกีเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วน 19%)
ขณะที่สหราชอาณาจักร (UK) นำเข้าปลาซาร์ดีนแปรรูปจากไทยเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 104 ตัน สัดส่วน 52% ของการนำเข้าจากทั่วโลก นำเข้าปลาทูน่าแปรรูปจากไทยเป็นอันดับ 9 ปริมาณ 8 ตัน สัดส่วน 0.4% ของการนำเข้าจากทั่วโลก (นำเข้าจากมอริเซียสเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วน 77%) นำเข้ากุ้งแช่แข็งจากไทยเป็นอันดับ 7 ปริมาณ 1,434 ตัน สัดส่วน 4% ของการนำเข้าจากทั่วโลก (นำเข้าจากเวียดนามเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วน 25%) ทั้งนี้ไม่มีการนำเข้าปลาแปรรูปจากไทยในช่วงเวลาดังกล่าว
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาสถิติการส่งออกของไทยประกอบกับการจัดสรรโควตาภายใต้กฎระเบียบดังกล่าวจะเห็นว่าสัดส่วนการแบ่งโควตาในสินค้าปลาซาร์ดีนแปรรูปและปลาทูน่าแปรรูประหว่าง EU 27 และ UK สอดคล้องกับสถานการณ์ส่งออกของไทย สำหรับสินค้าปลาแปรรูปและกุ้งแช่แข็งที่นำเข้าจากไทยน้อยนั้น
นายอดุลย์ คาดว่า ในอนาคตไทยจะมีโอกาสและศักยภาพในการส่งออกสินค้าดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน EU ได้ปลดใบเหลือง IUU ให้ไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ทำให้ประเทศคู่ค้ามั่นใจว่าสินค้าประมงไทยมาจากการทำประมงที่ถูกกฎหมาย ปราศจาก IUU นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของไทย EU และ UK อยู่ระหว่างการเจรจาหารือการจัดสรรโควตาภายใต้กฎระเบียบดังกล่าวเพื่อให้ฝ่ายไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุด ขอให้ผู้ส่งออกสินค้าประมงไทยมั่นใจว่าการจัดสรรโควตาใหม่ของ EU 27 และ UK จะเป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าที่เกิดขึ้นจริง และได้รับปริมาณโควตารวม (โควตาจาก EU 27 และ UK รวมกัน) ที่ไม่น้อยกว่าโควตาเดิมที่ไทยได้รับจาก EU 28 ในปัจจุบัน โดยกรมฯ จะติดตามการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด