ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพ.ค.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 77.7 จาก 79.2 ในเดือนเม.ย.
ดัชนีความเชื่อมั่นปรับลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน จากความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 64.8 จาก 66.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 73.3 จาก 74.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 95.0 จาก 96.7
สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 1/62 ขยายตัว 2.8% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส การปรับลด GDP ปี 62 เหลือ 3.6%, ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลและสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตที่อาจมีความไม่แน่อน และกังวลสงครามการค้า อีกทั้งการส่งออกในเดือนเม.ย.ที่ลดลง 2.57%
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยที่ 1.75%, ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง และ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องทุกรายการ และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1.ความไม่มั่นใจสถานการณ์การเมืองไทยในอนาคตเป็นสำคัญ 2.ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง 3.ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
"3 ตัวนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่องทุกรายการ...ความคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนจากการจับจ่ายใช้สอยจะยังไม่เห็นในช่วงนี้" นายธนวรรธน์กล่าว
พร้อมระบุว่า จากการรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/62 ที่เติบโตเพียง 2.8% ซึ่งถือว่าต่ำสุดใน 17 ไตรมาสนั้น ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่สัญญาณที่ชะลอตัวและเริ่มเป็นภาพของขาลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 4% ติดต่อกัน 3 ไตรมาส พร้อมคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะขยายตัวได้ 2.8-3.2% ซึ่งคงไม่ย่อไปจากไตรมาสแรกมาก สามารถพยุงไว้ได้ ซึ่งเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ได้มีสัญญาณการเติบโตที่โดดเด่นขึ้นจากมุมมองของผู้บริโภคเท่าใดนัก
อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีโอกาสที่จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ปีนี้ หลังจากที่เริ่มเห็นความชัดเจนจากการมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นคณะรัฐมนตรีที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสามารถขับเคลื่อนงบประมาณตลอดจนนโยบายในการบริหารเศรษฐกิจต่างๆ ได้
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังเป็นช่วงสุญญากาศในการใช้งบประมาณของรัฐบาลชุดใหม่นั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจทำได้ด้วยการใช้งบเดิมที่ยังเหลืออยู่ในแต่ละกระทรวง เพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่จำเป็นจริงๆ ซึ่งการใช้เม็ดเงินลงไปอัดฉีดระบบเศรษฐกิจในทุก 10,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ 0.04-0.06%
"หน่วยงานรัฐเคยประเมินไว้ว่าจะสามารถใช้งบประมาณใหม่ได้เร็วสุดในเดือน ม.ค.63 ดังนั้นจะเห็นช่วงสุญญากาศตั้งแต่การใช้งบประมาณใหม่ คือ ตั้งแต่ ครม.เริ่มเข้ามาในเดือนก.ค. ถึง ธ.ค. ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้งบที่เหลือจากปี 62 ได้ในช่วง ก.ค.ถึง ก.ย. ต้องดูว่างบกลางมีเท่าไร งบแต่ละกระทรวงมีเหลือเท่าไร เพื่อเอามาออกมาตรการพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่จำเป็น" นายธนวรรธน์กล่าว
นอกจากนี้ หากรัฐบาลใหม่ยังไม่สามารถใช้งบประมาณใหม่ได้ในระหว่างนี้ สิ่งที่จะทำได้คือการใช้นโยบายการเงินกึ่งการคลังผ่านการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น
ส่วนการนโยบายการเงินในเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เชื่อว่าคงไม่มีเหตุผลที่จะทำได้ในขณะนี้ เนื่องจากปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำและมีสัญญาณการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อของประชาชนที่ยังเปราะบาง ดังนั้นดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในระดับที่เพียงพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ในขณะที่สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังมีอยู่อีกมาก การส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย อาจกลายเป็นการส่งสัญญาณที่ทำให้คนเข้าใจผิดได้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัว และอาจส่งผลต่อจิตวิทยาในเชิงลบได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าการปรับลดดอกเบี้ย คงเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
นายธนวรรธน์ มองว่า หากรัฐบาลใช้งบประมาณเพื่อออกมาตรการอัดฉีดและกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เพิ่มเติม โดยใช้เม็ดเงินราว 3-5 หมื่นล้านบาท ก็คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.1-0.3% และส่งผลให้ช่วงครึ่งหลังปีนี้ เศรษฐกิจไทยโตได้ถึง 4% ซึ่งจะทำให้โดยรวมแล้วในปีนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 3.5% ตามที่ ม.หอการค้าไทย และสภาพัฒน์ประเมินไว้
"หากเป็นครม.ตัวจริงเสียงจริง ที่ประกาศชื่อแล้วทุกคนยกนิ้วให้ สามารถทำงานได้ทันที ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งในส่วนนี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินกระตุ้น แต่เศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนไปได้เอง นโยบายที่แถลงต่อสภาต้องชัดเจน จับต้องได้ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะดึงการลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้น เราเชื่อว่านโยบาย EEC จากภาครัฐจะทำให้การลงทุนถูกดึงเข้ามาได้มากขึ้น เราเชื่อว่าการใช้งบประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท การทำนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และรายชื่อ ครม.ที่โดดเด่น น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนไทย และต่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคค่อยๆ เคลื่อนได้ และไตรมาสที่ 4 ก็น่าจะเห็นการจับจ่ายใช้สอย และการลงทุนมากกว่าเดิม ซึ่งช่วยประคับประคองในช่วงที่งบประมาณใหม่ยังไม่เกิด"นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงอัตราแลกเปลี่ยนด้วยว่า จากในช่วงต้นปี 60 จนถึงต้นปี 62 นี้ เงินบาทของไทยแข็งค่ามากสุดเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งผู้ส่งออกยังมีความกังวลในจุดนี้ และไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไปเพราะจะทำให้เสียเปรียบในเชิงการแข่งขันทางการค้า โดยผู้ประกอบการเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะมีเสถียรภาพแล้วควรจะอยู่ในระดับประมาณ 32 บาท/ดอลลาร์ หรืออ่อนค่ากว่านั้นเล็กน้อย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวในการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ด้วย
นายธนวรรธน์ ยังเชื่อว่าปัญหาการเมืองนอกสภา จะไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตติดลบ เพราะหากพิจารณาในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะพบว่าความสุ่มเสี่ยงในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะมีต้นตอจากปัญหาเศรษฐกิจต่างประเทศทั้งสิ้น ขณะที่เหตุการณ์ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายทางเมือง หรือแม้แต่มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 54 ก็ไม่ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตติดลบแต่อย่างใด
"จากสถิติที่ผ่านมา เราไม่เคยมีผลกระทบที่รุนแรงถึงขั้นติดลบจากวิกฤตการณ์ภายในประเทศ และถ้าการเมืองนอกสภา (การชุมนุมประท้วง) อยู่ในกรอบที่นานาชาติปฏิบัติ ก็เป็นเรื่องปกติ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.5% ในปีนี้ แต่ถ้าการเมืองนอกสภา มีการใช้ความรุนแรง มีเหตุปะทะกันของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม จนสถานการณ์บานปลายถึงขั้นที่สถานทูตต้องออกคำเตือนนั้น ก็เชื่อว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว การเมืองนอกสภา จะไม่เป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยง แต่จะมีความเสี่ยงต่อการท่องเที่ยวได้มากกว่า เพราะตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย" นายธนวรรธน์ระบุ