นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมแก้ปัญหาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการปรับแบบตามข้อเสนอกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อลดผลกระทบการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 402 ซึ่งเป็นทางหลวงเส้นเดียวที่เชื่อมจากสนามบินเข้าตัวเมือง ซึ่งการจราจรแออัดตั้งแต่ 07.00-21.00 น. ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการทางยกระดับ
ดังนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทน (รฟม.) จึงได้เสนอทั้งรูปแบบทางระดับดินที่ต้องมีการใช้ช่องจราจรร่วมกันระหว่างแทรมป์กับรถยนต์ และออกแบบสถานีที่ตัวถนนยังคงมีช่องจราจรเท่าเดิม เป็นต้น
ทั้งนี้ รูปแบบที่ได้จัดทำได้พิจารณา 4 จุดตัดหลัก ได้แก่ แยกวงเวียนอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร , แยกบางคู , ทางเข้าสนามบินภูเก็ต, ถนนศรีสุนทร ซึ่งแนวทางแก้ไขมีทั้งการปรับให้เป็นใต้ดิน ยกระดับ และใช้ทางร่วมกันกับรถยนต์ ซึ่งจะมีผลต่อค่าก่อสร้างต่างกันไป ซึ่งขณะนี้มีแนวทางเลือกหมดแล้ว เหลืออีก 2 จุดที่ให้กรมทางหลวงเลือกรูปแบบที่เหมาะสม และนำมาหารือร่วมกัน
"ต้องหาข้อสรุป ให้ชัดเจนเพราะ รฟม.ยังมีโครงการรถไฟฟ้าแทรมป์ในจังหวัดภูมิภาคอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ซึ่งจะใช้พื้นที่ถนนร่วมกัน โดย สนข.ได้ออกแบบในการใช้พื้นที่เกาะกลางถนน ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมทางหลวงดังนั้นต้องให้กรมทางหลวงเลือกรูปแบบที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อการจราจร โดยในสัปดาห์หน้า จะเรียกประชุมอีกครั้งหากไม่มีปัญหาเพิ่มเติม น่าจะได้ข้อสรุปได้"
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องเร่งหาข้อยุติ เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งกรมทางหลวงได้ยื่นคัดค้าน EIA เมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเสนอ EIA ชะงัก เพราะหน่วยงานในกระทรวงเดียวกันคัดค้านกันเอง และรายงาน EIA เดิมใกล้จะหมดอายุอีกด้วย
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะนี้เหลืออีก 2 จุด คือ แยกทางเข้าสนามบิน และแยกบางคู ที่ รฟม.ได้เสนอรูปแบบการก่อสร้างมาให้กรมทางหลวงเลือก ซึ่งต้องพิจารณาข้อดี-ข้อเสียอย่างรอบคอบ และให้มีผลกระทบการจราจรบนถนนน้อยที่สุด