น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เข้ารับทำหน้าที่เป็นวันแรก ประกาศเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 5.5-6.0% ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากกว่าการรักษาเสถียรภาพในระยะนี้ เตรียมหารือหน่วยงานในสังกัดและผู้เกี่ยวข้องยกร่างแผนเร่งด่วน 6 เดือนเพื่อบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลภายใน 2 สัปดาห์
น.พ.สุรพงษ์ ระบุว่า จะประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงบประมาณ เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
เบื้องต้นจะมีการหารือกับธปท.ในสัปดาห์หน้าหยิบยกประเด็นมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้นขึ้นมาพูดคุยความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการดังกล่าวต่อไปหรือไม่อย่างไร ส่วนนโยบายการดูแลค่าเงินบาทในขณะนี้แม้ว่าจะแข็งว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคไปเล็กน้อย แต่การเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม
"มาตรการ 30% แน่นอนว่าต้องคุยกันว่ามันจำเป็นมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้คงจะคุยกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ในสัปดาห์หน้า...ถ้าในท้ายสุดแล้วมาตรการใดที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้แก้ปัญหา ก็ต้องยกเลิก และมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปดูแลจัดการ และดูว่าจะมีมาตรการใดเข้ามาช่วยแทน ซึ่งมาตรการ 30% ก็ถือเป็นปัญหาที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่เข้าใจว่าไทยมีแนวทางอย่างไรในการต้อนรับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เราต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจน" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
และในช่วงที่รัฐบาลกำลังจัดทำนโนบายหลักในการบริหารประเทศ ก็จะหารือกับผู้บริหารของกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางต่าง ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกำหนดกรอบการทำงาน ก่อนนำเสนอนโยบายต่อสภาฯ ในวันที่ 20 ก.พ.นี้
พร้อมกันนั้น ยังจะขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจที่เคยได้พูดคุยกันไว้ ได้แก่ นายทนง พิทยะ อดีตรมว.คลัง, นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายวิจัย บล.ภัทร, นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี,นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และ นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี น.พ.สุรพงษ์ ระบุว่า การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจนี้ จะขอเดินหน้าในการมุ่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยยืนยันว่าจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีภาษีหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น(SHIN) โดยขอให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
*กระตุ้นพร้อมกัน 4 เครื่องยนต์หลัก ดันเศรษฐกิจเดินหน้า
สำหรับแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รองนายกฯ และ รมว.คลัง เห็นว่า ขณะนี้จำเป็นจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างความสมดุลของ 4 เครื่องยนต์ ที่ปัจจุบันการส่งออกเป็นเพียงเครื่องยนต์ตัวเดียวที่ยังทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่อีก 3 เครื่องยนต์ ซึ่งได้แก่ การบริโภค, การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุน ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นในเรื่องของการบริโภคและการลงทุนจะต้องแก้ปัญหาด้วยการฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน และนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ มีแนวทางทีจะเพิ่งงบประมาณกลางปี 51 อีกราว 6 หมื่นล้านบาท หรือขาดดุลงบประมาณดเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 2.5% ต่อจีดีพี ซึ่งจะนำมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มรากหญ้า ซึ่งอาจจะมีการลดภาษีเงินได้เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะผลในการกระตุ้นด้านการบริโภคให้ขยายตัวขึ้นด้วย และจะสานต่อนโยบายประชานิยมที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ แล้ว
ขณะที่การลงทุนนั้น รัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็คต์ รวมถึงการนำมาตรการทางการเงินและการคลังออกมาใช้ ซึ่งจะต้องหารือในรายละเอียดกับ ธปท.อีกครั้ง โดยแนวทางการระดมทุนมาใช้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ นั้น การจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 หรือการออกพันธบัตรในประเทศ ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจ
ส่วนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่เป็นทางเลือกหนึ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานเท่านั้น
น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การจูงใจการลงทุนจากต่างประเทศ จะมีการทำโรดโชว์ครั้งใหญ่ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 51 เริ่มจากประเทศญี่ปุ่นที่เชื่อว่ายังมีเม็ดเงินที่ร้อมเข้ามาลงทุนอีกมาก
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--