นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อนำเสนอรมว.พลังงานคนใหม่ โดยเฉพาะแผนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ที่เบื้องต้นกฟผ.ได้รับมอบหมายก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ รวม 6,150 เมกะวัตต์ (MW) รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อนรวม 2,725 เมกะวัตต์ โดยโครงการโซลาร์ลอยน้ำ นำร่องแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ จะเปิดขายซองประมูลงานติดตั้ง (EPC) ในกลางเดือนมิ.ย. 2562 นี้
สำหรับแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของกฟผ. มีจำนวนรวม 6,150 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าน้ำพอง กำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 68 , โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ขนาด 600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 69 ,โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 69 และอีก 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 70 ,โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 70 และอีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 72 ,โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 71 และอีก 700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 78 ส่วนโครงการโซลาร์ลอยน้ำ กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ จะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 63-80
ส่วนความคืบหน้าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปีของกฟผ.ที่ก่อนหน้านี้สามารถคัดเลือกผู้ชนะการประมูลนำเข้าได้แล้ว แต่ยังต้องรอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้อนุมัติ และปัจจุบันกฟผ.อยู่ระหว่างเจรจากับบมจ.ปตท. (PTT) เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหากเกิดกรณีมีภาระ Take-or-Pay ตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลจากการไม่สามารถรับก๊าซฯได้ครบตามปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่จะต้องชำระค่าก๊าซฯในส่วนที่ไม่ได้รับด้วย เนื่องจากรัฐบาลมีความกังวลต่อปริมาณการนำเข้า LNG ในช่วงปี 62-63 ที่อาจจะมากเกินไป โดยหากการเจรจาแล้วไม่สามารถหาแนวทางบริหารจัดการได้ ก็อาจจะต้องเจรจากับผู้ที่ชนะประมูลจัดหาLNG เพื่อลดปริมาณจัดส่ง LNG ในปี 62-63 ต่อไป ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ เพราะตามแผนกำหนดกฟผ.จะต้องเริ่มนำเข้า LNG ล็อตแรกเข้ามาในเดือนก.ย.นี้
นายพัฒนา กล่าวอีกว่า ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดในร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของกฟผ.ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้า กับบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ภาคตะวันตก 2 โรง กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ที่จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 67 และ 68 และร่างสัญญา PPA กับ บมจ.เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย (NPS) ผู้ที่ได้รับสิทธิก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติแล้ว ซึ่งเมื่อกกพ.พิจารณาแล้วเสร็จก็จะส่งกลับมายังกฟผ. เพื่อดำเนินการลงนามสัญญากับเอกชนผู้ดำเนินโครงการต่อไป โดยคาดว่าจะลงนามสัญญา PPA ได้หลังจากที่ กฟผ.ได้เสนอแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ให้รมว.พลังงานคนใหม่ พิจารณาเรียบร้อยแล้ว