พาณิชย์ เผยการปรับปรุงการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง AANZFTA จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 12, 2019 10:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ครั้งที่ 14 ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ว่า ที่ประชุมบรรลุข้อตกลงการผ่อนคลายเงื่อนไขการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าโดยประเทศคนกลาง หรือ Back-to-Back C/O โดยประเทศคนกลาง (Intermediate Country) สามารถพิจารณาออกหนังสือรับรองฯ แบบ Back-to-Back กรณีการแบ่งสินค้าส่งออก หรือการทยอยส่งออก (Partial Shipment) ได้ ส่งผลดีและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจในรูปแบบนายหน้าและตัวกลางกระจายสินค้า (Distribution Hub) ของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าโดยประเทศคนกลาง หรือ Back-to-Back อนุญาตให้ประเทศคนกลางสามารถออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้แก่สินค้านำเข้าซึ่งไม่ได้ผลิตในประเทศของตนโดยอ้างอิงจากหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกจากประเทศต้นทางซึ่งผลิตสินค้า สำหรับกำกับสินค้าที่จะส่งออกต่อไปยังประเทศปลายทาง เพื่อนำไปขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร โดยที่ประเทศต้นทางที่ผลิตสินค้า ประเทศคนกลาง และประเทศปลายทางต้องเป็นสมาชิกความตกลงการค้าเสรีเดียวกัน

"ที่ผ่านมาภายใต้ความตกลง AANZFTA มิได้ระบุอย่างแจ้งชัดว่าอนุญาตให้ประเทศคนกลางสามารถออกหนังสือรับรองฯ Form AANZ แบบ Back-to-Back กรณีการแบ่งสินค้าส่งออก หรือการทยอยส่งออกได้ ซึ่งความคลุมเครือดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในรูปแบบศูนย์กลางกระจายสินค้าของผู้ประกอบการไทย กรมฯ จึงดำเนินการผลักดันให้ประเทศสมาชิก AANZFTA ทบทวนระเบียบปฏิบัติว่าด้วยมาตรการ Back-To-Back C/O จนได้ข้อสรุปตามที่กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้" นายอดุลย์ กล่าว

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง AANZFTA ในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 970.85 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ รถบรรทุกขนส่ง ขนาดไม่เกิน 5 ตัน เครื่องประดับที่ทำหรือชุบด้วยเงิน ผ้าอ้อมและผ้าอนามัย แชมพู กันชนและส่วนประกอบ สิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้กับผม โพลิเอทิลีนที่มีความถ่วงจำเพาะตั้งแต่ 0.94 ขึ้นไป สิ่งปรุงแต่งเสริมความงาม แว่นตา และเลนส์แว่นตาทำด้วยวัตถุอื่นนอกจากแก้ว

นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง AANZFTA แล้ว สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรืออาเซียน สามารถขอรับสิทธิการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากรนำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) หรือความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ตามลำดับ โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักเลือกใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงดังกล่าวเหนือความตกลง AANZFTA เนื่องจากความคุ้นชินประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ดี จากการที่ความตกลง AANZFTA ประกอบด้วยสมาชิกถึง 12 ประเทศ ย่อมมีสิทธิประโยชน์หรือมาตรการบางมาตรการที่เหนือกว่า เช่น มาตรการว่าด้วยการออกหนังสือรับรองฯ โดยประเทศคนกลาง หรือ Back-to-Back C/O ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ภายใต้ความตกลง TAFTA หรือ TNZCEP หรือมาตรการว่าด้วยการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าที่อนุญาตให้สามารถนำวัตถุดิบ/สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศสมาชิกทั้ง 12 ประเทศมาสะสมถิ่นกำเนิดได้ ขณะที่ความตกลง TAFTA หรือ TNZFTA อนุญาตให้นำวัตถุดิบ/สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะจากออสเตรเลียเท่านั้นมาสะสมถิ่นกำเนิด ดังนั้นผู้ประกอบการควรศึกษาเพื่อให้สามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความตกลงที่สอดคล้องกับรูปแบบการผลิตและการค้าของตน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ