นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารเตรียมจะเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กระทรวงการคลังพิจารณา หลังจากเมื่อต้นปี 62 คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบให้ไอแบงก์ออกจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร ซึ่งคณะกรรมการก็ได้มอบนโยบายแก่ฝ่ายจัดการในการสร้างความยั่งยืนทั้งการเงิน การปฏิบัติการ และธรรมาภิบาล อย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางในระยะต่อไปจะเน้นการทำธุรกิจในเชิงรุกที่ไม่ใช่เพียงลูกค้ามุสลิมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้ความสนับสนุนลุกค้ารายใหญ่ที่มีประสิทธิภาพด้วย เพื่อให้องค์กรมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นได้
ส่วนการถือหุ้น บมจ.อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง (AMANAH) ที่ธนาคารมีอยู่ในสัดส่วน 48.75% ยังไม่มีแผนขายหุ้นออกไปในขณะนี้ เพราะภารกิจหลักได้ให้กรรมการผู้จัดการผลักดันกรยกระดับการทำงานและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของทางธนาคารให้ดีขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธนาคารอย่างยั่งยืนเป็นลำดับแรก
นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กรรมการผู้จัดการ ไอแบงก์ กล่าวว่า ณ สิ้นปี 61 ธนาคารสามารถทำกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีกำไรสุทธิ 531 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 8.05 หมื่นล้านบาท และธนาคารยังเดินหน้าพัฒนากระบวนการและระบบงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและดำเนินการสร้างความยั่งยืนตามนโยบายที่คณะกรรมการธนาคารมอบไว้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ ณ สิ้นไตรมาส 1/62 อยู่ที่กว่า 170 ล้านบาท มีสินเชื่อรวม 5.26 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 61 ที่ 2.51 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.02% และสามารถลดต้นทุนเงินฝากได้ดีกว่าเป้าหมายปี 62 ที่ 0.23% ด้านประสิทธิภาพของการบริหารจัดการต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 70% ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีกว่าเป้าหมาย
นอกจากนี้ธนาคารยังมีแผนพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มลูกค้า ซึ่งยังคงมุ่งเน้นลูกค้ามุสลิมตามพันธกิจหลักของธนาคาร ขณะเดียวกันก็จะเป็นทางเลือกที่ดีของลูกค้าทั่วไป โดยธนาคารมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจ รวมถึงลูกค้ารายใหญ่ที่มีคุณภาพและความเสี่ยงต่ำ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับการให้บริการทางการเงินเพื่อสร้างความทัดเทียมในการให้บริการทางการเงินและเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้า
ขณะนี้ลูกค้าของธนาคารอิสลามสามารถรับโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนจากสถาบันการเงินอื่นได้ทุกแห่งเรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการ Mobile Banking ของธนาคารก็มีภารกิจหลักที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของระบบไอทีให้แล้วเสร็จในสิ้นปี 62 และคาดว่าจะให้บริการ Mobile Banking ได้ภายในกลางปี 63
ด้านแผนการดำเนินงานในปี 62 ธนารได้ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อในปี 62 อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยมองว่าในปีนี้จะเผชิญกับความท้าทายค่อนข้ามากจากภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับความเข้มงวดของหน่วยงานกำกับที่เข้ามาคุมเข้มการปล่อยสินเชี่อของธนาคารมากขึ้น อย่างเช่น การออกเกณฑ์ LTV ใหม่ ทำให้ภาพรวมของสินเชื่อหลายธนาคารชะลอตัวลง เช่นเดียวกับไอแบงก์ที่ยังปล่อยสินเชื่อไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่พอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคารในสิ้นปีนี้คาดว่าจะเพิ่มมาอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 5.2 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงต้องเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ให้มีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในไตรมาส 1/62 NPF ของธนาคารจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20% หรือเพิ่มขึ้นมากว่า 1 พันล้านบาท จากปลายปีก่อนที่ 17% หรือมีมูลหนี้ NPF อยู่ที่ 9 พันล้านบาท ซึ่งธนาคารคาดว่าในสิ้นปี 62 แนวโน้มของ NPF จะเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อยอยู่ที่ 9.3-9.4 พันล้านบาท โดยเป็นผลมาจากลูกหนี้ในพอร์ตเก่าของธนาคารที่ยังมีความเสี่ยงกลายเป็นลูกหนี้ตกชั้นอีก 1.2-1.3 พันล้านบาทจาก จากพอร์ตลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีความเสี่ยงมากที่สุด และธนาคารพยายามที่จะช่วยเหลือลูกค้าที่ยังมีแนวโน้มสามารถแก้ปัญหาได้โดยการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ในส่วนของลูกค้าที่ไม่สามารถชำระคืนหนี้ให้ธนาคารได้แล้วธนาคารจะดำเนินการตามกฏหมาย พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายใน 3-4 ปีนี้จะพยายามลด NPF ให้ลดลงมาอยู่ที่ 5%
ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ของธนาคาร ณ สิ้นไตรมาส 1/62 ที่ผ่านมายังคงติดลบ 2% หรือติดลบอยู่ที่กว่า 1.2 พันล้านบาท ซึ่งติดลบน้อยลงจากระดับ 1.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 61 แม้ว่าธนาคารจะได้รับเงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังเข้ามาแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย.61 แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ BIS ratio กลับมาเป็นบวกได้ โดยธนาคารจำเป็นต้องพึ่งพาเงินจากกำไรหรือเงินจากพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุน ซึ่งปัจจุบันธนาคารชะลอแผนการเจรจากับพันธม์ตรออกไปก่อน เพราะข้อเสนอที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ยังไม่ใช่ข้อเสนอที่ดี
ดังนั้น ปัจจุบันธนาคารจึงหันมามุ่งเน้นปรับปรุงโครงสร้างและกระบวนการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถเดินหน้าธุรกิจไปได้ด้วยตัวเอง แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะทำให้ BIS ratio กลับมาเป็นบวกได้ หรือกลับมาในระดับขั้นต่ำของธนาคารในระบบที่ 12.5% เพื่อจะรองรับต่อการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น