นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ถึงแม้ว่าภาวะการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมีแนวโน้มลดลง สืบเนื่องจากภาวะตลาดโลกที่ชะลอตัว, ภาวะ Trade War และความไม่แน่นอนในการสั่งซื้อของตลาดโลก ฯลฯ แต่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และต้องการการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนา
โดยแนวโน้มและภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคมในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2562 มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกแยกผลิตภัณฑ์เป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าส่งออกยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มูลค่าส่งออก 258,807 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.74%, อิเล็กทรอนิกส์ส่งออกขยายตัวลดลง มูลค่าส่งออก 347,156 ล้านบาท ขยายตัวลดลง -11.29%, ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกหลักที่ยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ขยายตัว 20.24% แผงสวิตช์ แผงควบคุมกระแสไฟฟ้าฯ ขยายตัว 9.11% และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัว 11.45%
ตลาดส่งออกหลักเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ได้แก่ ญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น 21.92 %, สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น13.74%, เวียดนาม ขยายตัวลดลง -7.49 % และจีน ขยายตัวลดลง -13.88%
ตลาดส่งออกหลักอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง -10.97%, ฮ่องกง ขยายตัวลดลง -13.33%, ญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.54 % และจีน ขยายตัวลดลง -21.48%
นางกนิษฐ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ Smart Industry โดยมีวิสัยทัศน์คือ "ส่งเสริมสนับสนุนขีดความสามารถของสมาชิกเข้าสู่เทคโนโลยีขั้นสูง" โดยแบ่งยุทธศาสตร์เป็น 3 ข้อหลัก ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Mass Customization for Customers Segmentation) โดยเน้นด้านการออกแบบรูปลักษณ์สินค้า และปรับวิธีการใช้งานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค (Life Style) รวมถึงพัฒนาให้สินค้าประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Embedded System) เข้ามาใช้ด้วย เพื่อพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความฉลาด (Smart Home Appliance) และสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้
2. ยุทธศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์ (Advance & Effective Electronics Manufacturer) โดยการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความทันสมัยด้วยการนำเทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation) มาใช้มากขึ้น ยกระดับผู้ผลิตจาก OEM ให้เป็น Electronics Manufacturing Service (EMS) โดยการเพิ่มศักยภาพด้านการออกแบบเชิงวิศวกรรม (Engineering Design) รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์ และเครื่องกลจุลภาค (Micro Electromechanical System : MEMS) ใช้ในอุปกรณ์สื่อสาร ระบบจัดการพลังงานฉลาด (Smart Power) อิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ / เครื่องมือแพทย์ / การเกษตร RFID ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Microcontrollers) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ฉลาดขึ้น
3. ยุทธศาสตร์ไฟฟ้ากำลัง ทิศทางการพัฒนาจะมีแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy) มากขึ้น และการพัฒนาเป็นระบบจ่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) "Total Solution Service Provider" เพื่อยกระดับผู้ผลิตไทยให้เป็นผู้ให้บริการครบวงจรที่มีมาตรฐานการติดตั้ง / ให้บริการอย่างมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประเทศใน ASEAN ที่กำลังลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จำนวนมาก
นายกฤษดา ทรัพย์ทวยชน รองประธานกลุ่มฯ กล่าวว่า ทางกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ ได้จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยียุคใหม่ขึ้น โดยความร่วมมือจาก 1) สมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ 2) สมาคมไทยไอโอที 3) สมาคมนวัตกรรม 4) สมาคมสมองกลฝังตัว 5) สถาบันไฟฟ้าฯ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและสร้าง Platform ให้เป็นไปตามองค์ประกอบข้างต้นอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นจะเริ่มถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ ต่อไป
รูปแบบการพัฒนา Smart Electronics มีองค์ประกอบ 3 ประการ ดังนี้
1) ต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ดีไซเนอร์ โปรแกรมเมอร์ และนักการตลาด เพื่อเชื่อมโยงกับ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ควรให้การสนับสนุน Start-up อย่างจริงจัง เพิ่มจำนวนและความหลากหลายให้เพียงพอ
2) ต้องพัฒนา Data Center พัฒนาระบบการเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานและอุตสาหกรรม สร้างระบบการเก็บข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว และมีการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ
3) ต้องสร้าง Innovative Lab ได้แก่ Design Lab, Standard Lab, Industrial Lab เพื่อกำหนดมาตรฐานการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุม