ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2562 ในคดีหมายเลขดำที่ ฟร.9/2562 ระหว่างสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่ 1 กับพวกรวม 42 คนผู้ฟ้องคดี ขณะที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน เป็นผู้ถูกฟ้องคดี
สมาคมโรงพยาบาลเอกชนระบุว่า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ออกประกาศฉบับที่ 1 ของปี 62 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.62-21 ม.ค.63 หรือจนกว่าจะมีการออกประกาศฉบับใหม่
ประกาศดังกล่าวมีการกำหนดให้สินค้าตามประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดให้บริการตามประกาศเป็นบริการควบคุม รวมทั้งได้ประกาศกำหนดให้ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม และประกาศกำหนดให้บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นบริการควบคุม โดยเห็นว่าเป็นสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค
สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเห็นว่าการออกประกาศดังกล่าวขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จึงฟ้องขอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการดังกล่าว เฉพาะข้อ 3 (13) ยารักษาโรค (14) เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค และ (50) บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค พร้อมทั้งมีคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการทุเลาการบังคับได้เมื่อมีองค์ประกอบครบ 3 ประการ คือ กฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย, การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และ การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองในระหว่างการพิจารณาคดีไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่บริการสาธารณะ
เหตุคดีนี้เกิดจากมีข้อร้องเรียนในเรื่องราคายา และบริการทางการแพทย์มีราคาสูงเกินสมควร ซึ่งคณะกรรมการกลางฯ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการค้าภายในประเทศ จึงกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค เพื่อแก้ปัญหาราคายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย และได้ออกประกาศดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 9 และมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
ในชั้นนี้จึงเห็นว่าคณะกรรมการกลางฯ ได้ออกประกาศพิพาทที่มีฐานะเป็นกฎไปโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ และเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว อีกทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 หมวด 3 การกำหนดราคาสินค้าและบริการ มีขั้นตอนตามมาตรา 24 ให้คณะกรรมการกลางฯ มีอำนาจประกาศกำหนดให้สินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าหรือบริการควบคุมได้ และเมื่อประกาศแล้ว คณะกรรมการกลางฯ ยังคงมีหน้าที่ตามมาตรา 25 ในการกำหนดราคาซื้อหรือราคาจำหน่ายสินค้า หลักเกณฑ์ มาตรการอื่นๆ เกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้าและบริการ
ขณะที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนอยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าและบริการ คณะกรรมการกลางฯ ยังมิได้กำหนดมาตรการในรายละเอียดเรื่องราคาสินค้าหรือบริการดังกล่าวแต่อย่างใด จึงยังไม่มีมาตรการใดๆ มาบังคับต้องปฏิบัติในการเรียกเก็บค่ายาและค่ารักษาพยาบาลจากผู้รับการรักษาพยาบาลในอัตราใด จึงไม่อาจถือได้ว่าหากให้กฎพิพาทใช้บังคับต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดี จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 42 จนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
กรณีคำขอทุเลาการบังคับตามกฎนี้ จึงเป็นคำขอที่ไม่ครบหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามกฎพิพาทตามคำขอได้ ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎ