(เพิ่มเติม) สคร.เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ หลังโครงการรถไฟไทย-จีน,โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิล่าช้า ชี้แนวโน้มดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 14, 2019 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยถึงภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในช่วงที่ผ่านมาว่า มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สคร.ได้เร่งรัดและติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังมีการเบิกจ่ายล่าช้า โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จากความล่าช้าต่อเนื่องของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. จากความล่าช้าของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560)

"หลังจากติดปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะขนาดใหญ่ที่ทำได้ล่าช้า สคร.จึงติดตามอย่างใกล้ชิดทุกเดือน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้มีการเบิกจ่ายได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งเร่งการลงทุนโครงการในอนาคตให้เริ่มลงทุนได้เลยสำหรับโครงการที่มีความพร้อมแล้ว ซึ่งจะมีการรายงานตัวเลขการเบิกจ่ายในสัปดาห์หน้า" ผู้อำนวยการ สคร.กล่าว

นายประภาศ ได้กล่าวในงานสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พ.ค.62 ว่า กฎหมายดังกล่าว มีการกำหนดแผนและเป้าหมาย นโยบาย รวมถึงทิศทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจไทยในภาพรวมทั้งระบบ ในช่วง 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นอีกกลไกสำคัญในการช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ในรายละเอียดจะมีการกำหนดเกี่ยวกับบทบาทของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ที่จะต้องสอดคล้องและสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และทิศทางการลงทุน ฐานะการเงินที่จะต้องมีความเข้มแข็ง การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้การทำธุรกิจอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดจะต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

"แต่ละแผนงานของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง จะถูกวาง เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจให้มีเป้าหมายการทำงานที่เป็นเอกภาพ นำไปสู่การตอบโจทย์ในการพัฒนาและยกระดับการแข่งขันของประเทศ โดยเมื่อมีการเชื่อมโยงกันทั้งหมดจนกลายเป็นกลไกแล้ว แผนดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังกระทรวงเจ้าสังกัดในการพิจารณาและติดตามการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจไทย" นายประภาศ กล่าว

นายประภาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เร็ว ๆ นี้เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณาเห็นชอบโครงการศูนย์การแพทย์ทางรางแห่งแรกของประเทศไทย ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคมโครงการแรก วงเงินลงทุนเกือบ 1 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นจะต้องรอเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ก่อนส่งเรื่องให้กระทรวงเจ้าสังกัดเร่งดำเนินการตามแผน

ผู้อำนวยการ สคร. ยังกล่าวถึงกรณีการเปิดประมูลโครงการร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) ว่า ตามร่างประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7(3) ท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศ แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งมีกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นสำหรับกิจการท่าอากาศยานมีทั้งสิ้น 12 กิจการ และกิจการการขนส่งทางอากาศอีก 1 กิจการ โดยกิจการ Duty Free ไม่มีใน 12 กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของกิจการท่าอากาศยาน

ดังนั้น เมื่อในประกาศไม่มีกิจการ Duty Free การประมูลก็ไม่ต้องเข้าเงื่อนไขต้องปฏิบัติกฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ทำให้การประมูล Duty Free ต้องขึ้นกับเงื่อนไขข้อกำหนดของคณะกรรมการ ทอท.

"ยืนยันว่า การประมูลโครงการ Duty Free ไม่ผิด ฝ่าฝืน หรือขัดต่อข้อกฎหมายเรื่องการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แต่อย่างใด เพราะร่างประกาศของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ออกมา ไม่ได้มีการกำหนดให้ทำ PPP" นายประกาศ กล่าว

ส่วนรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ที่อยู่ในแผนฟื้นฟู ได้แก่ บมจ. การบินไทย (THAI), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) ยังคงเดินหน้าไปตามแผน แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าก็ตาม เพราะทุกอย่างได้มีการกำหนดเป็นขั้นตอนให้สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ตอนนี้ยังไม่มีรัฐวิสาหกิจไหนต้องมีการเพิ่มทุน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีรัฐวิสาหกิจใดที่จะออกจากแผนฟื้นฟูอีก คงต้องรอดูผลการดำเนินงานก่อน

ในส่วนของ ทีโอที และ CAT นั้น อยู่ระหว่างการควบรวมกิจการ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจโครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดการทำงานและการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถานะของทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนสถานการณ์หนี้เสียที่ปรับเพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาท ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์นั้น มองว่าไม่น่าจะมีปัญหาจนทำให้ ธอท. ต้องกลับเข้ามาอยู่ในแผนฟื้นฟูอีกรอบ ส่วน ขสมก. ก็อยู่ระหว่างการเสนอแผนฟื้นฟู แต่มีประเด็นที่ต้องจับตาคือการสรรหาคณะกรรมการ ขสมก. หลังจากชุดเก่าได้ลาออกไป เพื่อให้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเป็นไปอย่างมีระบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ