นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ราคาน้ำมับดิบในตลาดโลกผันผวน หลังเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมัน/เคมี 2 ลำ ถูกลอบโจมตีแถบอ่าวโอมาน เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.) โดยได้มีการประชุมสอบทานปริมาณสต็อกน้ำมันสำรองในประเทศ และการซ้อมเตรียมความพร้อมของกระทรวงก่อนหน้านี้ ทำให้มีความมั่นใจว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันที่พร้อมนำมาใช้ได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ โดยกระทรวงพลังงานมีมาตรการในการกำกับ บริหารปริมาณสำรองให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด
ทั้งนี้ ปริมาณสำรองน้ำมัน มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ รวม 50 วัน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ มีปริมาณ 2,958.06 ล้านลิตร เพียงพอสำหรับการใช้ 24 วัน , น้ำมันดิบ ที่อยู่ระหว่างขนส่ง ปริมาณ 1,591.23 ล้านลิตร เพียงพอสำหรับการใช้ 13 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 1,549.53 ล้านลิตร เพียงพอสำหรับการใช้ 13 วัน โดยในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูป แบ่งเป็น กลุ่มน้ำมันเบนซิน 12 วัน ,น้ำมันดีเซล 13 วัน และน้ำมันอากาศยาน 16 วัน
ขณะที่ในประเทศสามารถผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ป้อนความต้องการใช้ได้ประมาณ 35% และมีสต็อกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) พร้อมใช้สำหรับครัวเรือน 20 วัน โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ของบมจ.ปตท. (PTT) สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาคครัวเรือนโดยไม่ขาดแคลน
รมว.พลังงาน กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมครั้งนี้อยู่ในระดับธงสีเหลือง คือ การพร้อมที่จะปฏิบัติจริง โดยหากเกิดวิกฤติรุนแรง เช่น การเผชิญหน้าระหว่างกองทัพทหารสหรัฐฯกับกองทัพทหารของอิหร่าน กระทรวงพลังงานจะยกระดับเป็นธงสีแดง คือ นำแผนที่ซ้อมไว้ไปปฏิบัติจริงทันที
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบตลาดโลกให้ปรับสูงขึ้น 2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 62 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และปัจจุบันทรงตัวอยู่ที่ 61.80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หากราคาน้ำมันดิบเปลี่ยนแปลง 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศเปลี่ยนแปลง 1 บาท/ลิตร ดังนั้น ขณะนี้สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในประเทศแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทรวงพลังงานยังมีเงินจากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ที่จะใช้ดูแลราคาไม่ให้ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไปได้ โดยเชื่อว่าจะรักษาระดับราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ได้ประมาณ 30 วัน บนพื้นฐานราคาน้ำมันน้ำมันดิบต้องอยู่ระดับไม่เกิน 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์รุนแรงถึงระดับปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เรือส่งออกน้ำมันดิบที่สำคัญ ก็จะมีผลต่อการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สำหรับผลิตไฟฟ้าของไทยเช่นกัน แต่เชื่อว่าจะกระทบไม่มากเพราะไทยนำเข้า LNG ไม่มากนัก คิดเป็นราว 5% ของปริมาณการใช้ก๊าซฯในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดหาจากแหล่งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากส่วนนี้มีปัญหาก็จะสามารถหาจากแหล่งอื่นมาชดเชยได้ แต่ที่จะกระทบมากคือ ราคานำเข้า LNG ที่จะมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าประเทศ ซึ่งหากเกิดผลกระทบต่อราคาดังกล่าวกระทรวงพลังงานจะหาแนวทางทางแก้ไขต่อไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าประเทศ