นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในโอกาสของการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 จะมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ ในช่วงค่ำวันที่ 21 มิถุนายน และช่วงเช้าของวันที่ 22 มิถุนายน 2562 เพื่อหารือกำหนดท่าทีร่วมอาเซียนในการผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ให้สำเร็จภายในปี 2562 ตามที่อาเซียนและผู้นำ RCEP ตั้งเป้าหมายไว้
โดยหลังจากนี้จะมีการประชุม RCEP ที่สำคัญ เช่น การประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP ในเดือนสิงหาคม ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเดือนกันยายนและพฤศจิกายน ที่ประเทศไทย รวมทั้งการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส RCEP ในปลายเดือนมิถุนายน ที่เบลเบิร์น ออสเตรเลีย และปลายเดือนกรกฎาคม ที่เมืองเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาให้คืบหน้าหาข้อสรุปได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมด้านเศรษฐกิจในระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิทที่กรุงเทพฯ คือ ผู้นำอาเซียนจะพบหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ในช่วงบ่ายวันที่ 22 มิถุนายน 2562 โดยสืบเนื่องจากที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้ ในส่วนของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) นายอรินทร์ จิรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะรับหน้าที่เป็นประธาน ASEAN-BAC เช่นเดียวกัน โดยคาดว่าสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนจะนำเสนอประเด็นที่ต้องการให้อาเซียนเร่งดำเนินการในปี 2562 ให้ผู้นำอาเซียนได้รับทราบ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบการวิชาชีพอาเซียนเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การพัฒนา SMEs การปรับปรุงกลไกการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน พร้อมนำเสนอผลการจัด Symposium on AHEAD (ASEAN Human Empowerment And Development) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ ซึ่ง ASEAN-BAC ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดขึ้น ให้ผู้นำรับทราบด้วย
ทั้งนี้ การรับตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยปีนี้ ไทยได้เสนอแนวคิด Advancing Partnership for Sustainability เป็น Theme สำคัญของการประชุมอาเซียนปีนี้ ซึ่งในส่วนเศรษฐกิจประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่ (1) การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต อาทิ การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การจัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย (2) ความเชื่อมโยง อาทิ การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ อาทิ การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน ซึ่งที่ประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 25 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่จังหวัดภูเก็ต ได้ให้ความเห็นชอบทั้ง 13 ประเด็นแล้ว
นางอรมน กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การทำงานของอาเซียนในด้านเศรษฐกิจประสบความสำเร็จหลายเรื่อง อาทิ (1) ลงนามความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดทำกฎระเบียบด้านบริการของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าบริการเกินความจำเป็น รวมทั้งยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าบริการของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพสามารถเติบโตมากขึ้นในประเทศอาเซียน เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร บริการด้านก่อสร้าง เป็นต้น
(2) ลงนามพิธีสารฉบับที่ 4 เพื่อแก้ไขความตกลงการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) เพื่อปรับปรุงความตกลงฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน (3) ได้ข้อสรุปการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมการตรวจสอบรับรองรถยนต์และชิ้นส่วน เพื่อให้มีการรับรองผลการตรวจสอบระหว่างหน่วยงานทดสอบของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่ต้องตรวจสอบและรับรองซ้ำ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการค้าขายภายในอาเซียนมากขึ้นและอุปสรรคทางการค้าลดลง ช่วยลดต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการส่งออก-นำเข้าสินค้ายานยนต์ภายในภูมิภาค
(4) ได้ข้อสรุปประเด็นด้านนโยบายของการเจรจาปรับปรุงพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้สมาชิกอาเซียนมีที่พึ่งในการแก้ปัญหาทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน (5) ได้ข้อสรุปการเจรจาข้อบทว่าด้วยระเบียบปฏิบัติด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าอาเซียน (Operational Certificate Procedures: OCP) เพื่อรองรับระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) โดยผู้ประกอบการสามารถดำเนินการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง จึงช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และลดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูล
ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน ในปี 2561 เป็น 113.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10.4% โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 68.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการนำเข้าจากอาเซียน 45.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น