นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยภายหลังการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงสินเชื่อโครงการ "บ้านคนไทยประชารัฐ" ระหว่างธนาคารอาคารสงเคราะห์, กรมธนารักษ์ และธนาคารออมสินว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจทำให้คนไทยมีบ้าน พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อโครงการ "บ้านคนไทยประชารัฐ" บนที่ดินราชพัสดุ ซึ่งถือเป็นโครงการที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างความมั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิต
การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ธอส. พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการ ทั้งในด้านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำร่วมกับธนาคารออมสิน ด้วยกรอบวงเงินรวม 4,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้เช่าที่ราชพัสดุ แบ่งเป็น 1.สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย(Pre Finance) อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ปีที่ 1 – 3 เท่ากับ 3.00% ต่อปี ส่วนปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้เท่ากับ MLR – ไม่เกิน 1% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR ธอส. กับ 6.25% ต่อปี) ระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี ให้กู้สำหรับผู้ประกอบการที่มีวัตถุประสงค์การกู้เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยตามเงื่อนไขของโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ
2.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ปีที่ 1 - 4 เท่ากับ 2.75 % ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้กรณีลูกค้ารายย่อย MRR - 0.75% ต่อปี และกรณีลูกค้าสวัสดิการหักเงินเดือน MRR – 1% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.75% ต่อปี) ให้กู้เพื่อที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุ ภายใต้โครงการ "บ้านคนไทยประชารัฐ" ในระดับราคา 350,000-700,000 บาท/หน่วย ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 30 ปี พร้อมได้รับการผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio : DSR) ตามที่ธนาคารกำหนด ซึ่งจะช่วยให้ผู้รายได้น้อยมีโอกาสได้รับวงเงินกู้ในระดับที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
"ผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ สามารถมาติดต่อยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมกับธนาคารได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 2 มกราคม 2566" นายฉัตรชัยระบุ
ทั้งนี้ ความร่วมมือของโครงการ "บ้านคนไทยประชารัฐ" บนที่ดินราชพัสดุ ถือเป็นการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินโครงการที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 ซึ่งโครงการมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ประชาชนที่อยู่ในทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐกับกระทรวงการคลัง 2.ประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคนต่อเดือน และ 3.ประชาชนทั่วไป (อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) โดยให้สิทธิพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการจากประชาชนที่อยู่ในทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐกับกระทรวงการคลังเป็นลำดับแรก
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารมีความยินดีและมีความพร้อมในการสนับสนุนสินเชื่อโครงการนี้ ทั้งการให้สินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ซื้อรายย่อย ซึ่งธนาคารออมสินได้ประสานงานในการดำเนินโครงการกับกรมธนารักษ์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้น หลังจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายในเรื่องนี้
สำหรับรูปแบบที่อยู่อาศัยโครงการนั้นแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ บ้านแฝด บ้านแถว และอาคารชุดพักอาศัย กำหนดพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร ราคาหน่วยละประมาณ 350,000-700,000 บาท โดยธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาสินเชื่อโครงการฯ ให้ผู้ประกอบการจำนวน 3 ราย ใน 5 พื้นที่ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ เชียงราย และขอนแก่น ซึ่งก่อสร้างในรูปแบบอาคารพักอาศัย (ห้องชุด) และบ้านแฝดชั้นเดียว รวมมูลค่าโครงการประมาณ 1,564 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างประมาณ 2,302 ยูนิต โดยมีผู้สนใจ 4,953 ราย ได้จองสิทธิกับผู้ประกอบการรวม 2,210 ราย แบ่งเป็นกลุ่มสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 512 ราย กลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคนต่อเดือน จำนวน 1,674 ราย และกลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 5 ราย
ขณะที่ สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการ ธนาคารออมสินปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% เป็นเวลา 3 ปี ปีที่ 4 เป็นต้นไป เท่ากับ MLR -1 ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 5 ปี (ปัจจุบัน MLR ของธนาคารออมสิน = 6.50%) ส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ซื้อรายย่อย กำหนดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-4 คงที่ 2.75% ต่อปี ปีที่ 5 เป็นต้นไป กรณีรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.75 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารออมสิน ปัจจุบัน = 7.00% ต่อปี) ส่วนกรณีสวัสดิการหักเงินเดือนคิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี
ด้านนายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการเปิดประมูลหาผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารโครงการและได้ผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาที่ราชพัสดุ พร้อมทั้งจัดทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเรียบร้อยแล้ว 5 พื้นที่ และได้เปิดจองโครงการแล้ว 4 พื้นที่ ประกอบด้วย ชลบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เชียงใหม่ และเชียงราย โดยมีผู้จองสิทธิจำนวน 2,249 ราย คิดเป็น 98% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด 2,302 ยูนิต ซึ่งถือว่าได้รับความสนใจสูงมาก เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยราคาบ้านจะอยู่ที่หลังละ 350,000-700,000 บาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว 1 แห่ง บนที่ราชพัสดุแปลงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และในปีงบประมาณ 2562 ได้ดำเนินการเปิดประมูลเพื่อหาผู้ลงทุนในพื้นที่นครพนม โดยกำหนดยื่นซองประมูลในวันที่ 25 มิ.ย.นี้