นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และห้างสรรพสินค้าจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นว่า กรมฯ ไม่ได้บังคับให้ห้างปรับขึ้นราคาขายทีเดียว 10 บาท แต่ในช่วงที่ผ่านมา ได้ขอความร่วมมือให้ห้างต่างๆ ยกเลิกการจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายในช่วงนี้ออกไปก่อน เพราะอาจทำให้ห้างอื่นๆ หันมาจัดโปรโมชั่นแข่งขันกันเพื่อดึงดูดลูกค้า และอาจส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ผลิตกดราคารับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกร จนอาจทำให้ราคาผลปาล์มตกต่ำลงเหลือกิโลกรัม (กก.) ละ 1-2 บาทได้อีก
"ผู้ประกอบการห้างทั้งหมดให้ความร่วมมือขายน้ำมันปาล์มขวดที่ขวดละ 34-36 บาท ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากผลปาล์มสดที่ขยับขึ้นมาเป็นกิโลกรัม (กก.) ละ 3.50 บาท จากเดิม 1.80-2.00 บาท และน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่กก.ละ 19.50-20 บาท จากเดิม 16.50-17.50 บาท ส่วนที่มีการจัดโปรโมชั่นขายขวดละ 24-25 บาทนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการขายต่ำกว่าทุน หรือยอมขาดทุนเพื่อจูงใจให้คนหันมาซื้อสินค้าในห้าง ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า" อธิบดีกรมการค้าภายในระบุ
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กังวลกรณีที่ถูกโลกโซเชียลโจมตี เพราะเป็นข้อมูลที่เข้าใจผิด และที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เห็นด้วยกับแนวทางที่กรมฯ ช่วยเหลือเกษตรกรในการพยุงราคาปาล์ม และสนับสนุนค่ายรถยนต์ใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20
นายวิชัย กล่าวว่า สิ่งที่กังวลขณะนี้คือ การลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากมาเลเซียมาจำหน่ายในไทยตามบริเวณชายแดน โดยผู้นำเข้ามีทั้งรายใหญ่ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น กองทัพมด ซึ่งกรมฯ ได้ประสานงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และกรมศุลกากรให้เข้มงวดตรวจสอบ และจับกุมขบวนการลักลอบนำเข้าแล้ว โดยสาเหตุที่มีการลักลอบนำเข้า เพราะราคา CPO ของไทยล่าสุดขยับขึ้นมาอยู่ที่กก.ละ 19-20 บาท สูงกว่าของมาเลเซียถึงกก.ละ 5 บาท
ด้านนายมนัส พุทธรักษ์ ประธานสหพันธ์สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า ต้องการให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าการจัดทำโปรโมชั่นลดราคาขายน้ำมันปาล์มขวด เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาปาล์มตกต่ำ และเกษตรกรเดือดร้อน เพราะห้างจะซื้อปาล์มขวดจากผู้ผลิตน้ำมันปาลมขวดในราคาต่ำ ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องมาซื้อปาล์มจากชาวสวนในราคาต่ำ ทำให้ชาวสวนเดือดร้อนมาก
ซึ่งในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่ราคาปาล์มตกต่ำ รายได้ของชาวสวนหายไปแล้วประมาณ 15,000 ล้านบาท ดังนั้นต้องขอขอบคุณกรมการค้าภายใน ภาครัฐ ค่ายรถยนต์ ปั๊มน้ำมัน และห้างสรรพสินค้าที่ร่วมกันแก้ปัญหา จนราคาใกล้เคียงกับต้นทุนเกษตรกร โดยราคาต้นทุนของชาวสวนอยู่ที่กก.ละ 3.80 บาท หากราคาขึ้นไปกก.ละ 4 บาทก็จะมีกำไรแล้ว