น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และการส่งออก รวมทั้งให้พิจารณามาตรการรองรับ ซึ่งกระทรวงได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไปแล้วนั้น
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ ได้มอบหมายให้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) หารือกับผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงด้านต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและมาตรการที่เหมาะสมในการรับมือปัญหาสงครามการค้า ที่กำลังเริ่มขยายออกไปในประเด็นต่างๆ เช่น เทคโนโลยี โดยจะนำความเห็นที่ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีใหม่ต่อไป
สนค. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนศ. จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ประกอบด้วย นายการุณ กิตติสถาพร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายสมเกียรติ โอสถสภา นักวิชาการและคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายกิตติพงษ์ ณ ระนอง อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันดีซี, นายปฐม อินทโรดม ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน ของ ส.อ.ท. เข้าร่วมการหารือ
น.ส.พิมพ์ชนก ระบุว่า วัตถุประสงค์หลักของการหารือ เป็นการขอความคิดเห็นต่อแนวทางการรับมือสงครามการค้า รวมถึงการดำเนินวิเทโศบายของไทยเพื่อการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศในขณะนี้มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทิศทางการค้าและการลงทุนเปลี่ยนแปลงจากเดิม นอกจากนี้ ประเด็นอื่นๆ ทั้งการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และเทคโนโลยี เริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางการค้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ที่ประชุมหารือได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเชิงยุทธศาสตร์หลายประเด็น โดยต่างเห็นพ้องกันว่าเป็นการดีที่กระทรวงพาณิชย์ริเริ่มการหารือครั้งนี้โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้าน เพราะความขัดแย้งของสหรัฐฯ และจีนคงจะไม่จบลงง่ายๆ แต่มีแนวโน้มที่จะคงอยู่ไปอีกนานพอสมควร และอาจจะขยายวงออกไปมากกว่าเรื่องการค้า ซึ่งไทยต้องมีแนวทางการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศใหญ่ทั้งสองและประเทศอื่นที่มีความสมดุล (Balance) นอกจากนี้ ไทยควรมองหาแนวทางการสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มเติมให้สอดรับกับพัฒนาการใหม่ๆ ทางเทคโนโลยี ไม่ใช่ยึดติดกับประเด็นเรื่องเดิมๆ ที่ทำมาแล้วเท่านั้น
สำหรับระยะสั้น กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่า ฝ่ายเลขานุการควรจัดทำ checklist ประเด็นที่อาจจะทำให้ไทยเป็นที่เพ่งเล็งของสหรัฐฯ เช่น การได้ดุลการค้า เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และเตรียมแนวทางรองรับอย่างมีเอกภาพร่วมกันหลายๆ หน่วยงาน รวมทั้งควรยกระดับการติดตามสอดส่องการนำเข้าที่ไม่ถูกต้อง เช่น การสวมสิทธิ์ และการเข้ามาลงทุนในกิจการขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือทำสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา นอกจากนี้ ควรเร่งรุกตลาดใหญ่ๆ ในภูมิภาคนอกจากจีนและอาเซียน เช่น อินเดีย ด้วย รวมทั้งควรสนับสนุนภาคบริการมากขึ้น
สำหรับระยะกลาง ที่ประชุมเสนอว่าไทยควรมีการกำหนดกรอบการบริหารจัดการเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีความยืดหยุ่นโดยต้องร่วมกันหารือระหว่างหน่วยงานการค้า การคลัง การเงิน การลงทุน การต่างประเทศ ความมั่นคง การแข่งขัน และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน สร้างภูมิคุ้มกัน และตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไป
นอกจากนี้ ไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคบริการ (services) อย่างจริงจัง เพื่อมาเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมที่ในอนาคตจะมีจ้างงานคนน้อยลง เพราะระบบอัตโนมัติ (Automation) และการผลิตแบบ Customized (ผลิตตามออเดอร์ลูกค้า ลดการสต๊อคสินค้าในโกดังหรือในร้าน) จะทำให้ภาคการผลิตอาจไหลกลับไปสู่ประเทศเจ้าของทุนและเจ้าของเทคโนโลยีมากขึ้น หรือที่เรียกว่า re-shoring (กลับไปประเทศ) และ near-shoring (กลับไปประเทศที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ไปผลิตในเม็กซิโกที่ใกล้กับสหรัฐฯ) โดยภาคบริการนี้ ไทยควรพัฒนาทั้งแบบที่เป็นบริการเกี่ยวเนื่องกับสินค้าต่างๆ เช่น R&D การออกแบบ การขาย โลจิสติกส์ และบริการที่เป็น cluster ที่สร้างรายได้ เช่น ดิจิทัล การศึกษา การท่องเที่ยว เป็นต้น อีกภาคหนึ่งที่ควรเร่งพัฒนาขึ้นมาคือ เกษตรแปรรูป ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในและสร้างรายได้เกษตรกรอีกด้วย
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงประเด็นเรื่องเทคโนโลยีว่า จะเป็นปัจจัยสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในอนาคต โดยด้านเศรษฐกิจ 5G จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อผู้บริโภคเข้ากับผู้ขายหรือผู้ผลิตโดยตรง ลดขั้นตอนและตัวกลางลงผ่านการใช้ platform ต่างๆ ส่วนเรื่องความมั่นคงจะเกี่ยวกับภัยไซเบอร์และการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของภาครัฐและประชาชน ซึ่งไทยต้องทำความเข้าใจผลกระทบและศักยภาพของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจีนกำลังผลักดันอย่างมากและเร็วขึ้น หลังจากพบปัญหากับสหรัฐฯ ซึ่งที่ประชุมอยากให้ฝ่ายเลขานุการวิเคราะห์ประเด็นนี้ให้ละเอียดขึ้น
สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น นอกจากประเด็นที่ต้องระวังเรื่องการทุ่มตลาด การสวมสิทธิ์ และการลงทุนประเภทที่ไม่พึงปรารถนาแล้ว ที่ประชุมเห็นว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของการค้าออนไลน์นั้น แม้ว่าในทางหนึ่งจะเป็นประโยชน์ในการส่งออกของ SME ไทย แต่พบว่าการเข้าถึงแพลตฟอร์มขายสินค้าของไทยยังไม่เพียงพอ แข่งกับสินค้าจากประเทศอื่นได้ลำบาก อีกทั้งปัจจุบันมีการเข้ามาของสินค้าต่างประเทศที่สั่งมาออนไลน์ในราคาที่ถูกอย่างไม่น่าเชื่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจตราการนำเข้า หน่วยงานภาษี หน่วยงานด้านการแข่งขัน และหน่วยงานด้านมาตรฐานสินค้า ควรยกระดับการติดตามตรวจสอบ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย และรักษาระดับมาตรฐานสินค้าเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค
สำหรับการเตรียมการในระยะต่อไป ต้องขยายการดำเนินงานในประเด็นอื่นๆ อาทิ ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเงิน การลงทุน และเทคโนโลยี เพื่อรองรับบริบทของเศรษฐกิจโลกในอนาคต โดยไทยจะต้องดำเนินนโยบายด้านการค้าและการลงทุน นโยบายการต่างประเทศ และความมั่นคงอย่างบูรณาการ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Stability) พัฒนาระบบนิเวศทางการค้าและการลงทุน (Trade & Investment Ecosystem) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ควบคู่กับการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local economy) ให้เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้ โดยผลักดันการส่งออกควบคู่กันไป
ทั้งนี้ ควรมีรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่มีความคล่องตัว ทันสถานการณ์ และสามารถเป็นผู้แทนเพื่อเจรจาและผลักดันวาระนี้ได้ในระดับนโยบาย กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนี้มาศึกษาบางประเด็นเพิ่มเติม ก่อนที่จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ครม.พิจารณาผลักดันการขับเคลื่อน และนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป