นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการลงพื้นที่ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในโครงการ "การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ครั้งที่ 5" เมื่อวันที่ 17 - 18 มิถุนายน 2562 ณ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรภาคอีสานล่าง 3 จังหวัดคือ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และยโสธร
โดยมีการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้ผลิตชาหอมแดงอินทรีย์ที่ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ผลิตเป็นชาหอมแดงจำหน่าย ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าของหอมแดงได้ โดยเมื่อนำหอมแดง 10 กิโลกรัม มาแปรรูปเป็นชา จะสามารถขายได้ถึง 11,000 บาท นอกจากนี้ หอมแดงยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย อาทิ เครื่องปรุงรส เครื่องเทศ สบู่ เครื่องสำอาง
"กรมฯ มั่นใจว่าการต่อยอดงานวิจัยในเรื่องประโยชน์ของหอมแดงซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่สำคัญของไทยจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ตลอดจนนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและลดความเสี่ยงด้านการตลาด สามารถแก้ปัญหาหอมแดงล้นตลาดราคาตกต่ำได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนภูเขาไฟ อำเภอกันทรลักษ์ ซึ่งเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ สินค้า GI ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ"
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ ย้ำให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน สร้างเรื่องราวของสินค้า รวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งเพื่อสร้างอำนาจต่อรองราคา สนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายการส่งออกไปต่างประเทศ
นางอรมน กล่าวเสริมว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมฯ ได้มีโอกาสประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรถึงงานของกรมฯ ที่ทำหน้าที่เจรจาต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้า เพื่อเปิดตลาดและลดอุปสรรคทางการค้าให้กับสินค้าของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรจึงต้องการให้สินค้าเกษตรไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้จากการจัดทำการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้า โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลกด้วยมูลค่ากว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปประเทศคู่ค้าเอฟทีเอมูลค่ากว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 64 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร สำหรับผลไม้ทุเรียน ปี 2561 ไทยส่งออกทุเรียนสดและแปรรูปด้วยมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 โดยมีตลาดส่งออกหลักกว่าร้อยละ 80 คือ จีนและเวียดนาม ตามมาด้วยฮ่องกง และไต้หวัน ขณะที่ปีเดียวกันมีมูลค่าส่งออกหอมแดง หอมหัวใหญ่ สดและแช่เย็นกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกหอมแดงของไทยคือ อาเซียน และญี่ปุ่น
นางอรมน กล่าวเสริมว่า นอกจากการลงพื้นที่แล้ว กรมฯ ยังได้จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ" และ "ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดเอฟทีเอ" ในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมแกลเลอรี่ ดีไซน์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดีจากเกษตรกร เป็นโอกาสได้รับทราบข้อมูลเรื่องช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และการทำการตลาด กรมฯ ยังได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการตลาดมาติวเข้มวิเคราะห์สินค้าและแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเกษตรกรให้ความสนใจนำสินค้ามาวิเคราะห์และร่วมจำหน่ายในงานเสวนาอย่างคึกคัก อาทิ ข้าวเกรียบทุเรียนภูเขาไฟ แยมมัลเบอรี่ แตงโมตอปิโด ชาหอมแดง
"กรมฯ เชื่อมั่นว่า การจัดงานครั้งนี้ ได้ช่วยทำให้เกษตรกรมองเห็นลู่ทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของตนและขยายช่องทางการจำหน่ายไปตลาดโลกด้วยการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยเฉพาะการส่งออกไปอาเซียน จีน และญี่ปุ่น ซึ่งได้ลดเลิกการเก็บภาษีศุลกากรส่วนใหญ่ให้ไทยแล้ว"นางอรมน กล่าว