นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญโรงพยาบาลเอกชนมาชี้แจงให้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตรงกัน ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.62 โดยกำหนดให้โรงพยาบาลต้องแจ้งราคาซื้อขายยา, เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้กรมฯ รับทราบ ซึ่งราคาที่แจ้งนั้นต้องเป็นต้นทุนของยา, เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย เช่น ค่าห้อง ค่าแอร์ ค่าเภสัชกร ค่าจ้างพนักงาน ค่าสร้างตึกใหม่ เป็นต้น
พร้อมย้ำกับโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ต้องให้การรักษาเท่าที่จำเป็น ห้ามรักษาเกินจริง และจะต้องแจ้งรายละเอียดให้ผู้ป่วยรับทราบด้วยว่าเป็นโรคอะไร ค่ารักษาเท่าไร เหตุการณ์ที่ผู้ป่วยท้องเสีย มีค่าใช้จ่าย 30,000 บาท จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก และในใบสั่งยา จะต้องระบุรายละเอียดชื่อ ราคา ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยมีทางเลือกสามารถไปซื้อยาภายนอกโรงพยาบาลได้
ในส่วนของยา จะต้องแจ้งราคาซื้อและขายยาในกลุ่มบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่ (UCEP) 3,892 รายการ และรายการยาที่มีการจำหน่ายสูงสุด 100 รายการแรก รวม 3,992 รายการ ภายในวันที่ 12 ก.ค.62 ส่วนราคาเวชภัณฑ์ 868 รายการ และค่าบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ ให้แจ้งภายในวันที่ 22 ก.ค.62
จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบกับบัญชีราคายาของกรมบัญชีกลาง และข้อมูลที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ ทั้งจากบริษัทผู้ผลิตยา และผู้นำเข้า เพื่อดูว่าเป็นราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่ แล้วจึงจะนำราคาเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.dit.go.th และจัดทำ QR Code ยาแต่ละรายการ จัดส่งให้โรงพยาบาลเอกชนไปแสดงไว้เพื่อให้ผู้ป่วยได้ตรวจสอบได้ คาดว่าจะตรวจสอบได้ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.62 เป็นต้นไป
"หลังวันที่ 12 ก.ค.62 จะดูว่าราคาแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่แตกต่าง ก็จะไม่ยุ่ง แต่ถ้ามีราคาสูงเกินจริง จะเชิญโรงพยาบาลเอกชนรายนั้น มาชี้แจงก่อน ถ้ายังไม่ร่วมมือขายยาให้สอดคล้องกับต้นทุน ก็ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ทั้งๆ ที่ไม่อยากใช้อำนาจตามกฎหมายเลย โดยมาตรการที่จะนำมาใช้ได้ เช่น กำหนดอัตรากำไรที่เหมาะสม แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น เพราะกรมไม่ต้องการใช้ และหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการนี้" อธิบดีกรมการค้าภายในระบุ