นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า โครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือ กองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ ได้ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าสิ่งทอ จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ สหกรณ์คลัสเตอร์หัตถศิลป์อีสาน (จังหวัดสกลนคร) สมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา (จังหวัดเชียงใหม่) และกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหัวเมือง (จังหวัดยโสธร) โดยสามารถเข้าไปช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาฝีมือและการสร้างนวัตกรรมการผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น
ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินการช่วยเหลือ "สหกรณ์คลัสเตอร์หัตถศิลป์อีสาน" ได้ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการหัตถกรรมสิ่งทอ (Crafts Textile Estate) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด โดยการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการย้อมสีจากวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่น ส่งผลให้ผ้าที่ผลิตขึ้นมีลวดลายที่คงทน สวยงาม ปลอดภัยกับผู้บริโภค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการสร้างความแตกต่างและมูลค่าให้แก่ผ้าทอจากกลุ่มสหกรณ์คลัสเตอร์หัตถศิลป์อีสาน
ส่วน "กลุ่มสมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา" ซึ่งครอบคลุมผู้ประกอบการหัตถศิลป์ผ้าทอในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง เชียงราย แพร่ และน่าน กองทุน FTA ได้ส่งเสริมงานวิจัยการใช้เฉดสีธรรมชาติที่เหมาะสมกับเอกลักษณ์ล้านนา และได้พัฒนาสูตรการผสมสีด้วยสารสกัดสีธรรมชาติแบบกึ่งสำเร็จรูปสำหรับการย้อมสีจนประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งนำผลกการวิจัยดังกล่าวมาฝึกอบรมพัฒนาฝีมือและทักษะการออกแบบของผู้ประกอบการในพื้นที่เป้าหมาย
ขณะที่การช่วยเหลือ "กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหัวเมือง" จังหวัดยโสธร กองทุน FTA อยู่ระหว่างดำเนินการให้ความช่วยเหลือ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะฝีมือในการย้อมสีธรรมชาติและการออกแบบลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่มสตรีทอผ้าหัวเมือง และยังดำเนินการศึกษาวิจัยตลาดเกี่ยวกับสีสัน โดยการวิเคราะห์แนวโน้มสีหรือโทนสีที่กำลังเป็นที่นิยม เพื่อให้การคัดสรรพืชท้องถิ่นที่จะนำมาทำสีย้อมสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
"ตั้งแต่เริ่มโครงการจนปัจจุบัน กลุ่มสตรีทอผ้าหัวเมืองมีผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายสู่ตลาดหลากหลายรูปแบบ ผ้าทอมีลวดลายโดดเด่นและทันสมัย ส่งผลให้กลุ่มสตรีทอผ้าหัวเมืองมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30% และมีคำสั่งซื้อจากเพื่อนำไปจัดจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ และแคนาดา รวมถึงทีมนักออกแบบจากสวีเดนให้ความสนใจเข้ามาศึกษากรรมวิธีการผลิตและนำผ้าทอของกลุ่มสตรีผ้าทอหัวเมืองไปออกแบบและตัดเย็บสำหรับงานแฟชั่นโชว์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาเป็นจุดขายเพื่อบุกตลาดต่างประเทศ" นายอดุลย์กล่าว
นางละมัย โพธิ์ภาษิต ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหัวเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาทักษะฝีมือโดยกองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ ได้ช่วยเพิ่มพูนทักษะในการย้อมสีธรรมชาติสำหรับผ้าไหมและผ้าไหมมัดหมี่ รวมถึงเทคนิคการรักษาคุณภาพของสีในผ้าทอให้มีความสวยงามและคงทนมากขึ้นให้แก่สมาชิกกลุ่มสตรีทอผ้าฯ โดยกลุ่มสตรีทอผ้าฯ ได้นำความรู้และทักษะที่ได้รับไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ทั้งนี้ กลุ่มสตรีทอผ้าฯ ยังมีความสนใจที่จะเพิ่มทักษะและพัฒนาฝีมือการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและรายได้แก่สมาชิก ปัจจุบันกลุ่มสตรผ้าทอฯ ได้พยายามเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพื่อการเข้าถึงผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าในพื้นที่จังหวัดยโสธร การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า หรือการจัดจำหน่ายออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊กและไลน์