นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) เดือนพ.ค.62 จากการสำรวจความคิดเห็นของประธานหอการค้า และกรรมการหอการค้าของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ รวม 370 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 29 พ.ค.- 5 มิ.ย.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนพ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 47.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนเม.ย.62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.8
โดยปัจจัยลบที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2562 ขยายตัว 2.8% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 3.6% จากการส่งออกลดลง และปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน, ความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาล และสถานการณ์ทางการเมืองมีความไม่แน่นอน และขาดเสถียรภาพ, การส่งออกของไทยเดือนเม.ย.62 ลดลง 2.57% ที่มูลค่า 18,555 ล้านดอลลาร์, SET Index ในเดือนพ.ค.62 ปรับตัวลดลง 53.30 จุด, ความกังวลต่อปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย, ความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและราคาสินค้า-บริการทรงตัวอยู่ในระดับสูง และรายได้ไม่สมดุลกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
ขณะที่ปัจจัยด้านบวก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับ 31.860 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนเม.ย.62 เป็น 31.796 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนพ.ค.62 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา, ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น จากการจัดงานเทศกาลวันหยุดต่างๆ, ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรขยายตัวจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้ 1. แก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม 2.กระตุ้นการลงทุนของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และกระจายความเจริญสู่ชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลเขตเมือง 3.เร่งผลักดันระบบขนส่งคมนาคมของประเทศให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต 4.ขยายตลาดการส่งออกสินค้าเกษตรในประเทศใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ 5.ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวตามชุมชน สินค้า OTOP ที่เป็นของชุมชนให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะในเมืองรอง
ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเมื่อแยกเป็นรายภาค มีรายละเอียดดังนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 48.9 ลดลงจาก 49.5 ในเดือนเม.ย.62 โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น, การใช้จ่ายของประชาชนลดน้อยลง, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยกว่าที่คาดการณ์ แต่ยังมีปัจจัยบวก เช่น มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, การท่องเที่ยวจากเทศกาลวันหยุด และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยสิ่งที่ภาคเอกชนเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ 1.พัฒนาตลาดอุตสาหกรรมการส่งออก 2.ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ให้สามารถตีตลาดสินค้าได้ 3.สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้แข่งกับธุรกิจจากต่างประเทศ
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 47.3 ลดลงจาก 47.9 ในเดือนเม.ย.62 โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล, ปัญหาการจราจร ขนส่ง และคมนาคม, ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาราคารสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ ส่วนปัจจัยบวก เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการอื่นๆ, ความคาดหวังจากการเลือกตั้ง ในการที่จะมีแนวนโยบายและมาตรการใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ไข คือ 1. พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน 2. พัฒนาสินค้าเกษตรสู่สินค้าเกษตรแปรรูป 3. แก้ไขระบบการศึกษาให้มีมาตรฐานและลดความเหลื่อมล้ำ
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 51.9 ลดลงจาก 52.7 ในเดือนเม.ย.62 โดยปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล, ปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ในชุมชน, ความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจในชุมชนที่ยังอยู่ในระดับไม่สูง, ปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และสงครามการค้า ส่วนปัจจัยบวก เช่น ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากการรองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความทันสมัยสะดวกสบาย และการดูแลความปลอดภัยเพิ่มขึ้น โดยสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ไข คือ 1.การลงทุนของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ 2.สนับสนุนธุรกิจทุกภาคส่วน และองค์กรภาครับต้องประสานงานกันอย่างชัดเจน
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.1 ลดลงจากระดับ 47.5 ในเดือนเม.ย.62 โดยมีปัจจัยลบสำคัญ เช่น ความกังวลในการจัดตั้งรัฐบาล, สภาพอากาศที่ฝนตกหนัก, การบริโภคในภูมิภาคชะลอตัวลง และการค้ายังไม่เติบโตเท่าที่ควร และราคาพืชผลเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่วนปัจจัยบวก เช่น ภาคเกษตรอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มขยายตัว และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ 1.ให้ภาครัฐสนับสนุนธุรกิจเพื่อการเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อนำรายได้สู่ชุมชน 2. พัฒนาด้านการศึกษาให้มีคุณภาพ และเพิ่มมาตรฐานการเป็นครูของประเทศ
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.8 ลดลงจากระดับ 48.3 ในเดือนเม.ย.62 โดยมีปัจจัยลบ เช่น ความกังวลในการจัดตั้งรัฐบาล, สภาพอากาศที่มีฝนตกหนักในพื้นที่, การค้าชายแดนมีแนวโน้มชะลอตัวลง และราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การจัดงานเทศกาลของภาคเหนือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการบริโภคในพื้นที่, ช่วงผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่งผลให้ระดับรายได้ของคนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ คือ 1.ต้องการให้เพิ่มการพัฒนาการค้าขายในชุมชน และผลักดันการใช้จ่ายของประชาชน 2.กระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อม
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 44.7 ลดลงจากระดับ 45.4 ในเดือนเม.ย.62 โดยมีปัจจัยลบสำคัญ คือ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล, รายได้ต่อหัวลดลงไม่สมดุลกับค่าครองชีพ, ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต, จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าที่คาดการณ์ และราคาพืชผลเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่วนปัจจัยบวก เช่น นักท่องเที่ยวมาเลเซีย และสิงคโปร์เดินทางเข้ามาที่เบตงจำนวนมากในวันแรงงานสากล, สภาพอากาศดี ทำให้ผลผลิตการเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้น และการลงทุนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือ 1.ผลักดันธุรกิจอุตสาหกรรมทางทะเล 2.เพิ่มการจ้างงานภายในชุมชน และขยายการเติบโตของสินค้าเกษตร 3.เร่งประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว