นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงอุตสาหกรรมปรับบทบาท มุ่งเน้นอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มมากขึ้น โดยทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรากหญ้า ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่ม
"ให้ตามเข้าไปสนับสนุนโครงการที่ ธ.ก.ส.ทำไว้ เพราะเขามีความเชี่ยวชาญ ต้องลงพื้นที่มากขึ้น...บ้านเราต้องเน้นอุตสาหกรรมเกษตร ทั้งเรื่องยาง เรื่องปาล์ม ไม่ใช่รถยนต์ เพราะสิบปีก็อยู่อย่างนี้ เรื่องอื่นก็ยังส่งเสริม แต่เน้นเรื่องอุตสาหกรรมเกษตรให้มีอัตราเร่งมากหน่อย" นายสมคิด กล่าว
พร้อมมองว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งการบริหารยุคใหม่ให้ทันประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อแต่งตั้ง ครม.ได้แล้ว เสร็จ สามารถเดินหน้าบริหารได้เต็มที่ จึงต้องการให้ทุกหน่วยงาน ทั้งสถาบันอาหาร สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ เตรียมตั้งรับเต็มที่ต่อการเปลี่ยนแปลง โดยในด้านเกษตรต้องการให้ช่วยเหลือแบบก้าวกระโดด ต้องการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือให้เกิดการเปลี่ยนผ่านให้เป็นภาคเกษตร 4.0 สำหรับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องนำบุคคลากรที่เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเป้าหมาย รองรับนโยบายดิจิทัล one Belt One Road ของจีน
"ผมพูดเรื่องนี้มา 15 ปีแล้ว ขณะที่โลกมีการเปลี่ยนที่เร็วมาก แต่การเมืองไม่นิ่ง การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใช้เวลายาวนานกว่าที่คิด ทำให้กังวลว่างานจะไม่ต่อเนื่อง วันนี้เตรียมความพร้อมไว้ให้รัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาสานต่องานตามแนวทางนี้ได้เลย" นายสมคิด กล่าว
การปรับหน่วยงานระดับภาคต้องปรับให้เพียงพอในแต่ละภูมิภาคในการดูแลภาคเกษตร อีกทั้งการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นคราวหน้าต้องมีความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบาย Open Innovation Columbus เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ผ่านไทยแลนด์ไซเบอร์พอร์ต หวังปั้นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 50 ราย ด้วยทุนเริ่มต้น 500 ล้านบาท ในส่วนของ SME Bank ได้สั่งการให้เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้จัดกลุ่มเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน
"การเปลี่ยนความคิดยากมาก แต่ต้องทำให้เขามั่นใจว่าการปรับเปลี่ยนคุ้มค่าต่อการลงทุน และมีผลตอบแทน ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนจะไม่สามารถเชื่อมต่อกับการลงทุนจากต่างประเทศที่ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีไปแล้ว" นายสมคิด กล่าว
ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการเขต EEC ในท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง เมื่อผังเมืองเตรียมประกาศบังคับใช้ เพื่อทำให้การพัฒนาได้รวดเร็วมากขึ้น ด้วยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ หรือสมาร์ท ปาร์ค การนำสินค้าเกษตรแปรรูป ใช้ความเย็น LNG มาจัดสร้างห้องเย็นขนาดใหญ่ดูแลภาคเกษตร การช่วยเหลือ SMEs การจัดการเรื่องขยะ กากของเสีย การสร้างตลาด SMEs
นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลต้องดึงให้ภาคเอกชนมาร่วมพัฒนาในเขตที่มีศักยภาพ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต้องนำอุตสาหกรรมเป้าหมายไปลงทุนในพื้นที่เหมาะสม จัดหาที่ดินรองรับการตั้งนิคมฯ ของ SMEs และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เพราะเขาเป็นรายย่อย เนื่องจากเอกชนระดับโลกจะไปลงทุนในเขตอุตสาหกรรมของภาคเอกชน เพื่อสร้างอนาคตให้กับรายย่อย เพื่อสร้างอนาคตให้กับคนตัวเล็ก เพื่อพัฒนาสินค้าในยุคดิจิทัลผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ
"พื้นที่ที่มีศักยภาพต้องให้เอกชนเข้ามาลงทุน ส่วนภาครัฐไปลงทุนในท้องถิ่นที่ยังไม่เจริญ เน้นการพัฒนา ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับภาคเอกชน" นายสมคิด กล่าว
ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรรม รายงานว่า เตรียมดึงสถาบันเกษตรกร และหารือกับ ธ.ก.ส. SME Bank ดึงสินค้าภาคเกษตร GI จำนวน 99 ราย หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร มาช่วยแปรรูป เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในชุมชน และร่วมมือกับตลาดออนไลน์ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี เอกชนรายใหญ่ ร่วมช่วยกันดูแลเกษตรกรรูปและช่วยรับซื้อสินค้าจากชุมชน สถาบันอาหารมาช่วยปรับปรุงพัฒนาอาหารชุมชน ด้วยแผน 3x3 ปั้นเกษตรกรแปรรูปกว่า 55,000 ราย นักธุรกิจเกษตร 15,000 ราย และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 5,000 ราย นำไปสู่เกษตรแปรรูปเกษตรพันธุ์ใหม่ 25,000 ราย