สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนพ.ค. 62 โดยระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,017.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -5.79% จากตลาดคาด -5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,836.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.64% ดุลการค้า พ.ค. เกินดุล 181.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 62 ที่หดตัวลง สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวลงตามปัจจัยร่วม อาทิ ข้อพิพาททางการค้า และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ/ภูมิภาค เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และขยายตัวได้ดีในหลายตลาดทั้งตลาดสำคัญเดิม อาทิสหรัฐฯ และอินเดีย และตลาดดาวรุ่งใหม่ เช่น แคนาดา และรัสเซียและ CIS
"เดือนพ.ค. การส่งออกหดตัวจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากไทยเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ ที่ชะลอตัวลงจากปัจจัยราคา...มูลค่าการส่งออกที่ 21,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนนี้ ก็ถือว่ารับได้ ซึ่งถ้าอยู่ในระดับ 20,000-21,000 ถือว่าทำได้ดีแล้ว" นางสาวพิมพ์ชนก ระบุ
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.62 ที่ -5.79% นั้น ถือเป็นการลดลงมากสุดในรอบ 34 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ค.59 ที่การส่งออกไทย -6.27%
สำหรับรายสินค้าการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และกระจายตัวในหลายตลาดทั้งตลาดจีน อาเซียน สหรัฐฯ ไต้หวัน และฮ่องกง โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรและ SMEช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ และโทรทัศน์ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ที่เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่ภาพรวมภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 5 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 101,561.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -2.70% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 100,830.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.99% ดุลการค้าเกินดุล 731.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยเชิงบวกที่ยังช่วยสนับสนุนต่อการส่งออกของไทย คือ ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ดีในสายตาของต่างชาติ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการค้าเชิงรุกเจาะตลาดรายพื้นที่ โอกาสในการทดแทนสินค้าท่ามกลางข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงภายนอก เช่น ความยืดเยื้อของข้อพิพาททางการค้าที่กลับมากดดันบรรยากาศการค้าโลกอีกครั้ง ราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน นโยบายการค้า และการมีผลบังคับใช้ของ FTA ในประเทศต่างๆ กระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย
"ในภาวะการค้าที่มีความท้าทายสูง การวางกลยุทธ์เจาะตลาดรายพื้นที่ การสนับสนุนสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาด และการขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาค จะช่วยสนับสนุนการขยายโอกาสส่งออกในหลายตลาดและสินค้า" นางสาวพิมพ์ชนก ระบุ
สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562 กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออก โดยใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ อาทิ กลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย และ CLMV และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น รัสเซีย และแคนาดา นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานระดับสากล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยง และจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาวเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขายและลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของข้อพิพาททางการค้า
นางสาวพิมพ์ชนก ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนในเดือนพ.ค.62 ที่แข็งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์นั้น มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องได้อีก ดังจะเห็นได้จากล่าสุดเมื่อวานนี้ (20 มิ.ย.) เงินบาทลงไปแตะที่ระดับ 30.94 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี
ทั้งนี้ยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่าได้สร้างแรงกดดันต่อการส่งออกของไทย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองคงไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงเงินบาทเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าได้ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้ ธปท.ได้พยายามดูแลค่าเงินบาทอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ ต้องการให้ผู้ส่งออกให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการทำประกันความเสี่ยง รวมทั้งภาครัฐเองที่อาจจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับการส่งออกของไทยด้วย
พร้อมกันนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามา ประกาศความชัดเจนในการเดินหน้าเปิดเจรจาเสรีการค้า (FTA) ซึ่งจะเห็นว่าหลายประเทศที่ยังสามารถส่งออกได้ดีท่ามกลางปัญหาสงครามการค้านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่มีการทำข้อตกลง FTA ไว้กับหลายประเทศ
"ต้องยอมรับว่ามาตรการของประเทศต่างๆ ที่ออกมา มีผลทำให้เงินไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น และทำให้เงินบาทแข็งค่า ดังนั้นต้องเตรียมรับมือ เราคงไม่หมดหวัง เพราะสินค้าบางตัวก็ยังไปได้ดี...อยากให้มีการลงทุนในสินค้าที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็น Consumer trend เราต้องตามให้ทัน" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
ด้าน น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังมั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้ของไทยจะทำได้ตามเป้าหมายล่าสุดที่ตั้งไว้ที่ 3% คิดเป็นมูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้วางกลยุทธ์สำคัญสำหรับการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อช่วยในการผลักดันการส่งออกของไทย เช่น การเชื่อมความสัมพันธ์และผลักดัน FTA, การเจาะตลาดใหม่, ยกระดับมาตรฐานการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ส่งเสริมการค้าออนไลน์ และประชาสัมพันธ์สินค้าไทยผ่านผู้นำกระแสการค้า, ส่งเสริมธุรกิจบริการ และพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเชื่อมโยงการส่งออกจากท้องถิ่นสู่สากล
"เรายังมั่นใจว่าปีนี้จะสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายที่ 3% แม้เรามองว่าสงครามการค้าอาจจะยังมีไปอีกนาน แต่เพราะปีนี้เรามีกิจกรรมในการผลักดันการส่งออกที่ชัดเจน และจะมีรัฐบาลที่นิ่งแล้ว" น.ส.บรรจงจิตต์ระบุ