นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมไต้หวัน (Environmental Protection Administration : EPA) ได้แก้ไขคำนิยามไขสังเคราะห์ที่มีลักษณะแข็ง (Solid Synthetic Wax) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ให้ถูกจัดอยู่ในประเภทไมโครบีดส์ (Microbeads) (ไม่รวมโพลิเมอร์ธรรมชาติ) โดยคำจำกัดความของโพลีเมอร์ธรรมชาติหมายถึง โพลิเมอร์ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ แม้ว่าจะผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการทางเคมี หรือมีการจับตัวทางกายภาพ โครงสร้างทางเคมีของมันจะไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ 6 ประเภท ได้แก่ แชมพู, ครีมอาบน้ำ, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใบหน้า, สบู่, ผลิตภัณฑ์สครับผิวหน้า, ยาสีฟัน โดยจะไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 และไม่อนุญาตให้จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ไมโครบีดส์ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไมโครบีดส์มีขนาดที่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เมื่อลงไปอยู่ในทะเลหรือแม่น้ำจะดูดซับสารพิษ ทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ทะเลและกลับเข้าสู่ตัวคนผ่านการรับประทาน
โดยปัจจุบัน หลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามใช้ไมโครบีดส์แล้ว ได้แก่ แคนาดา ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ บางรัฐของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
"ข้อมูลสถิติการส่งออกสินค้าแชมพู สบู่ และยาสีฟันของไทยไปยังไต้หวันในภาพรวม พบว่าในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าแชมพู สบู่ และยาสีฟัน 35.9 26.5 และ 115 ล้านบาท ส่วนในปี 2562 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 51.5 21.8 และ 111.4 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งมูลค่าการส่งออกค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้ส่งออกไทยควรตระหนักถึงกฎระเบียบข้างต้น เพื่อเตรียมตัวรองรับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวของไต้หวันไม่ให้กระทบต่อการส่งออกของไทย" นายอดุลย์กล่าว