นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน สมัยพิเศษ เรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2562 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ณ กรุงเทพฯ ว่า การประชุมครั้งนี้ถือได้ว่ามีข่าวดี เพราะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการเจรจา RCEP ให้สรุปผลให้ได้ในปีนี้ตามที่ผู้นำตั้งเป้าไว้ โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนต่างตระหนักว่าโลกกำลังอยู่ท่ามกลางภาวะตึงเครียดและความไม่แน่นอนทางการค้า
การสรุปผลการเจรจา RCEP ให้ได้ตามกำหนดจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าระหว่างประเทศของอาเซียน โดยที่ประชุมได้มีการพูดคุยในประเด็นที่อาเซียนยังมีท่าทีต่างกันและตกลงที่จะมอบให้คณะเจรจาของอาเซียนไปหารือเพื่อหาท่าทีร่วมกัน เช่น เรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และการลงทุน เป็นต้น ก่อนพบกับคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ (ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์) ต่อไป โดย RCEP มีกำหนดพบหารือในระดับคณะเจรจาอีก 3 ครั้ง ที่ประเทศออสเตรเลีย จีน และเวียดนาม และระดับรัฐมนตรีอีก 2 ครั้ง ที่ประเทศจีน และไทย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำให้สมาชิกอาเซียนเพิ่มความพยายามในการหารือกับสมาชิก RCEP อื่นๆ ในเรื่องที่ยังคงค้างอยู่ เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ตลอดจน 13 ข้อบทที่ยังเหลืออยู่ให้ได้โดยเร็ว ทั้งนี้ การที่อาเซียนสามารถมีท่าทีร่วมกันได้ในการเจรจาหลายๆ เรื่องจะช่วยขับเคลื่อนการเจรจา RCEP ในภาพรวมให้คืบหน้าไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนในภูมิภาคของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่อไป
อาร์เซ็ป มีประชากรกว่า 3,560 ล้านคนหรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 29 ของมูลค่าการค้าโลก โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 59.7 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 12.6 สำหรับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปที่ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตามลำดับ โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา เครื่องจักรกล เหล็ก