ผลสำรวจ AP-Ipsos ชี้ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยแล้ว

ข่าวต่างประเทศ Monday February 11, 2008 06:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ผลสำรวจความคิดเห็นซึ่งจัดทำโดย AP-Ipsos บ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว และเชื่อว่าเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะแรกเมื่อปี 2544 
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำลงและภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญบางคนมีมุมมองในทางเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในขณะนี้ อีกทั้งกังวลว่าผู้บริโภคและผู้ประกอบการจะลดตัวเลขการใช้จ่ายลงและจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทรุดตัวลงไปอีก
"แน่นอน เศรษฐกิจเราถดถอยแล้ว ราคาพลังงานและอาหารพุ่งขึ้นสูงลิ่ว เราไม่สามารถซื้อสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้มากเหมือนเมื่อก่อน เราต้องลดการใช้จ่ายลง" ฮิลดา ซานเชส ชาวอเมริกันวัย 44 ปีจากรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าว
ขณะที่จิม ซิมส์ วัย 50 ปีจากรัฐเซาท์แคโรไลนากล่าวว่า "ร้านขายของลดราคามีให้เห็นทุกที่ ในเมืองของผม มีบ้านอยู่ 35-40 หลังที่ยังอยู่ที่เดิมโดยไม่มีคนซื้อ บางหลังยังสร้างไม่เสร็จด้วยซ้ำ" และนาเน็ต ดอห์ลิน วัย 52 ปีจากรัฐมินเนโซตากล่าวว่า "สถานการณ์ในขณะนี้น่ากลัวมาก เพื่อนของฉันในเมืองเมดิสันติดป้ายขายบ้าน และเมื่อไม่นานมานี้ต้องลดราคาลงเหลือเพียง 100,000 ดอลลาร์"
ตลอดปี 2550 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวขึ้นเพียง 2.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545 ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐในปี 2550 เข้าสู่วิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุด และตัวเลขจ้างงานเดือนม.ค.ร่วงลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี
กระทรวงพานิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ทั่วสหรัฐในปี 2550 ทรุดลง 26.4% แตะระดับต่ำสุดที่ 774,000 ยูนิต โดยยอดขายบ้านที่ทรุดลงอย่างหนักส่งผลให้บ้านใหม่ที่ยังขายไม่ได้อยู่ที่ระดับ 495,000 ยูนิตเมื่อสิ้นสุดเดือนธ.ค. ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 9.6 เดือนจึงจะขายหมดเมื่อพิจารณาจากอัตราการขายในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐซึ่งเคยเฟื่องฟูเกิดการทรุดตัวลงอย่างหนักตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยนักวิเคราะห์คาดว่าสถานการณ์นี้จะดำเนินต่อไปอี เนื่องจากตลาดยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติซับไพร์ม
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนม.ค.ลดลง 17,000 ตำแหน่ง นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และเป็นการส่งสัญญาณครั้งใหม่ว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงอันตราย สำนักข่าวเอพีรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ