นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "เตรียมความพร้อมสู่ห่วงโซ่คุณค่ายุคใหม่" ในงาน CLMVT Forum 2019 โดยระบุว่า ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคนั้น สิ่งที่จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในอนาคตคือเรื่องของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะมีอย่างน้อย 3 ปัจจัยที่ทำให้ห่วงโซ่การผลิตจะเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม กล่าวคือ
ปัจจัยแรก เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม CLMVT ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ทำให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้าและบริการประเภทใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และกลายเป็นตลาดปลายทางที่มีความสำคัญในอนาคต จากเดิมที่เป็นเพียงแค่แหล่งผลิตเท่านั้น
"เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค CLMVT มีการขยายตัวโดยต่อเนื่อง ประชาชนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นดังนั้นการจะคาดหวังว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ และได้ประโยชน์จากค่าแรงถูก ข้อได้เปรียบนี้จะลดลง ขณะเดียวกันเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นจะมีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการประเภทใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นตัวทำให้ตลาดของ CLMVT เป็นตลาดโดยตัวของมันเอง ไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งผลิต แต่จะเป็นตลาดของสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญด้วย" นายวิรไทกล่าว
ปัจจัยที่สอง การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ด้วยการใช้หุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ จะทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าและมีประสิทธิภาพดีกว่า ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ นี้ จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของห่วงโซ่การผลิตไปจากเดิม
ปัจจัยที่สาม ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนแนวโน้มมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมากขึ้น จะนำมาซึ่งความเสี่ยงใหม่ของการออกแบบห่วงโซ่การผลิต ส่งผลต่อรูปแบบหรือนโยบายการค้าการลงทุนให้เปลี่ยนแปลงไป
"ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงบรรยากาศการค้าที่ประเทศใหญ่ๆ มีการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อบริษัทที่จะตัดสินใจว่าจะผลิตที่ไหน จะนำเข้าสินค้าจากที่ไหน" นายวิรไทกล่าว
พร้อมระบวุ่า หากมองถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศใน CLMVT หรือการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ต่างจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิต ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ตลาด CLMVT มีบทบาทหรือความสำคัญมากกว่าเป็นแค่แหล่งผลิต แต่จะกลายมาเป็นตลาดที่สำคัญของการค้าในภูมิภาค, ห่วงโซ่อุปทานในภาคบริการจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกิจกรรมด้านบริการที่เข้าไปมีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น รูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาหลังการขาย และการให้บริการทางการเงิน
ดังนั้นในอนาคตจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเสรีภาคบริการมากขึ้น ที่สำคัญ คือการยกระดับพนักงานที่จะเป็นแรงงานรุ่นใหม่ ต้องเท่าทันเทคโนโลยีได้ และแรงงานที่มีอยู่เดิมใน CLMVT ต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ๆได้
"เรื่องนี้เป็นความสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหมายความว่า ต่อไปเราต้องพยายามคอนเนคกับแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ดี เปิดเสรีด้านบริการให้มากขึ้น ให้มีความเชื่อมต่อกันมากขึ้นในภูมิภาค" นายวิรไทกล่าว