สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพ.ค.62 อยู่ที่ 103.68 หดตัว 3.99% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.63% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 67.72%
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพ.ค. ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มมูลค่าการส่งออกโลกที่ชะลออย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ย.61 นื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยรายได้ของประเทศไทยยังพึ่งพาการส่งออกถึง 70%
โดยมูลค่าการส่งออกโลกในช่วงพ.ย.61-เม.ย.62 หดตัว 1.01% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ดัชนี MPI ช่วงพ.ย.61-พ.ค.62 หดตัว 0.63% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ อัตราการขยายตัวของดัชนี MPI ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.62) อยู่ที่ -1.26% ขณะที่เป้าหมายทั้งปี ตั้งไว้ที่ 1.5-2.5% ลดลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 2-3%
นายณัฐพล กล่าวว่า ทิศทางการค้าโลกในขณะนี้ยังน่ากังวล แต่ยังมองในแง่ดีว่ามีแนวโน้มที่จะเจรจากันได้ เพียงแต่ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังไม่จบง่ายๆ โดยปัญหาเรื่องสงครามการค้าถือเป็นปัจจัยนอกเหนือจากการควบคุม แต่หากยืดเยื้อออกไปก็เป็นจังหวะดีที่ต้องมีมาตรการดึงดูดการลงทุนที่เป็นการย้ายฐานการผลิตให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยลดผลกระทบได้
"แนวโน้มการเจรจาน่าจะดีขึ้น แต่คงไม่จบง่ายๆ เพราะต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนของตัวเอง ที่เหมือนกันคือต้องการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลก" นายณัฐพล กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI ได้แก่ ปุ๋ยเคมี, รถยนต์และเครื่องยนต์, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องประดับแท้ และ Hard Disk Drive สาเหตุหลักมาจากความต้องการบริโภคภายในประเทศและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง
ขณะที่อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน, น้ำมันปาล์ม, เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ น้ำดื่ม เบียร์ เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
โดยเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัว 13.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดในประเทศเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและการเร่งทำตลาดของผู้ผลิตโดยเฉพาะชนิดอินเวอร์เตอร์ และตลาดส่งออกได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศเวียดนาม อินโดนีเซียและญี่ปุ่น รวมถึงอินเดียที่เป็นลูกค้าใหม่
น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 26.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบ ที่ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม ขยายตัว 16.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำอัดลม น้ำดื่มให้พลังงาน และน้ำดื่มบริสุทธิ์ ได้อานิสงส์จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมถึงผู้ผลิตออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมถึงการขยายตลาดในประเทศจีนและเวียดนาม
เบียร์ ขยายตัว 22.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การปรับเปลี่ยนรูปแบบและขนาดบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ลดลง รวมถึงการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ที่ขยายตัว
เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัว 3.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนที่กลับมาผลิตปกติหลังจากผู้ผลิตหยุดผลิตชั่วคราว และผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมและเหล็กเส้นข้ออ้อย ได้มีการเร่งผลิตชดเชยการหยุดซ่อมบำรุงในเดือนก่อนของผู้ผลิต
นายณัฐพล กล่าวถึงแนวโน้มดัชนี MPI ในเดือน มิ.ย.62 คาดว่าจะยังคงปรับตัวลดลง เมื่อพิจารณาจากทิศทางการนำเข้าวัตถุดิบที่ลดลง แต่ไม่น่าจะลงไปลึกเหมือนเดือน พ.ค.62
"เราเพิ่งปรับลดเป้าหมายอัตราการเติบโตลงมาเมื่อสัปดาห์ก่อนจาก 2-3% มาอยู่ 1.5-2.5% น่าจะรอดูต่อไปสักระยะ อย่าวู่วาม" นายณัฐพล กล่าว
สำหรับปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่เรียบร้อย ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของนักลงทุน เพราะถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งหากยังไม่มีความชัดเจน โดยนักลงทุนอาจตัดสินใจชะลอการลงทุน หรือย้ายไปลงทุนที่อื่น แม้แต่ผู้ประกอบการในสหรัฐเองก็กดดันประธานาธิบดีทรัมป์เหมือนกัน เพราะเล็งเห็นถึงผลเสีย หากปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อออกไป