ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนพ.ค.62 พบว่า ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้น 4.77%YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 0.89% YTD เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561 จากสินเชื่อภาคธุรกิจระยะสั้นและสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน กลับมาขยายตัวสูง ขณะที่สินเชื่อรายย่อยเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลที่มีและไม่มีหลักประกัน ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลทำให้สินเชื่อสุทธิในเดือนพ.ค. 2562 ขยับขึ้นถึงเกือบ 9 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นสถิติการเพิ่มขึ้นรายเดือนที่มากที่สุดในปีนี้
อย่างไรก็ดี อัตราเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีน้ำหนักสูงสุดในสินเชื่อรายย่อย ยังคงมีทิศทางชะลอลง เช่นเดียวกับสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อธุรกิจเพื่อการลงทุนระยะยาวที่ยังฟื้นตัวในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด ตามทิศทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
สำหรับแนวโน้มสินเชื่อในระยะที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อยู่ระหว่างทบทวนเพื่อปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปีนี้ลง (จากตัวเลขคาดการณ์ปัจจุบันที่ 5.0%) ตามแนวโน้มการฟื้นตัวที่อาจจะยังค่อนข้างจำกัดของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งน่าจะมีผลต่อศักยภาพการกู้ยืมของลูกค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยที่เป็นหนี้ผูกพันระยะยาว อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่ยังต้องติดตามการเบิกใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจ ซึ่งขึ้นอยู่กับบรรยากาศการลงทุนโดยรวม และความคืบหน้าของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ
ด้านเงินฝากในเดือนพ.ค.62 ปรับลดลงกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือ -0.25% หลังจากที่ขึ้นแรงในเดือนก่อนหน้า ทำให้ยอดเงินฝากรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3.23% และเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 2.45% โดยเงินฝากที่ลดลงนั้น ลดลงทั้งบัญชีเงินฝากประจำที่ครบกำหนดจำนวนมากในธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง ประกอบกับการไหลออกของเงินบัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์ในธนาคาร 3-4 แห่ง
สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่รวมเงินกู้ยืม (Loan to Deposit+Borrowing: L/D+BE) ณ พ.ค.62 เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 92.36% จากระดับ 91.59% ในเดือน เม.ย.62 (แต่ยังต่ำกว่าระดับ ณ สิ้นปีก่อนที่ 92.71%) อย่างไรก็ดี คาดว่าธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องให้พอเพียง และสอดคล้องกับจังหวะของการปล่อยสินเชื่อ ควบคู่ไปกับนโยบายการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารที่ยังคงระมัดระวัง