พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่อการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ในระหว่างวันที่ 28 – 29 มิถุนายน 2562 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ผู้นำ G20 (G20 Osaka Leaders’ Declaration) ณ นครโอซากา และเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์โอซากาว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล (Osaka Declaration on Digital Economy) ซึ่งจะมีการรับรองโดยผู้นำประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับสาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ประกอบด้วย (1) แสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศสมาชิก G20 ในการแสวงหาแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนและที่ทุกคนมีส่วนร่วมโดยเน้นความร่วมมือในการปรับปรุงกฎระเบียบระหว่างประเทศให้สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน
(2) ย้ำความสำคัญของการประสานนโยบายของประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับความท้าทายหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งผ่านการส่งเสริมการค้าเสรีและนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการนำเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบดิจิทัล และการต่อต้านการทุจริตและปัญหาคอร์รัปชั่น
(3) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้สูงวัย เยาวชน สตรี และคนพิการ โดยเน้นการส่งเสริมพฤฒพลังของผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานแม้ว่าจะมีอายุสูงขึ้น ส่งเสริมให้ประเด็นด้านเพศเป็นกระแสหลักในทุกแง่มุมของนโยบายลดช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงาน ส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการให้แก่สตรีและเยาวชน
(4) ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร โดยการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ การลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ปรับปรุงภาวะโภชนาการ สำหรับประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนขึ้น ให้ความสำคัญกับการใช้และเข้าถึงเทคโนโลยี พัฒนาห่วงโซ่มูลค่าด้านเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น
(5) คงบทบาทนำในการสนับสนุนการอนุวัติวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และวาระปฏิบัติการแอดดิสอาบาบา รวมถึงจะสนับสนุนความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
(6) มุ่งมั่นที่จะลงทุนในทุนมนุษย์และส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือใต้ – ใต้ และไตรภาคีในมิตินี้
(7) แสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่การมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยให้ความสำคัญกับการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการ เสริมสร้างศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ด้านการสาธารณสุข และส่งเสริมการใช้งานดิจิทัลและเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการระดมเงินทุนสำหรับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนาและการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ
(8) ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดการกับความท้าทายระดับโลก ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนทรัพยากรและพลังงาน ขยะพลาสติกทางทะเล การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
(9) เน้นความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการอพยพและการถูกบังคับให้พลัดถิ่น ผ่านการร่วมมืออย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระดับโลกในการจัดการกับต้นตอของปัญหา โดยความร่วมมือกับประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ส่วนสาระสำคัญของร่างแถลงการณ์โอซากาว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบด้วย เห็นพ้องว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อทุกมิติของเศรษฐกิจและแนวทางการดำรงชีวิต และยืนยันถึงความสำคัญของการปรับและสร้างกฎระเบียบใหม่ ๆ เพื่อให้ทันต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการหารือเชิงนโยบายระหว่างประเทศด้านดิจิทัล
ประกาศการเปิดตัวของ "โอซากาแทร็ก (Osaka Track)" ซึ่งเป็นกระบวนการที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความพยายามเพื่อจัดทำกฎระเบียบระหว่างประเทศ
ให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก โดยเฉพาะการออกแถลงการณ์ร่วมการเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสมาชิกองค์การการค้าโลกบางประเทศ ที่เมืองดาวอส เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันผลักดันพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการหารือที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมก่อนการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยที่ 12 ในเดือนมิถุนายน 2563